๑. สาระสำคัญของหัวข้อองค์ความรู้

          สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (กอม.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ เล็งเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการและกลไกการทำงาน การบูรณาการความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการขึ้นทะเบียนแหล่งที่มีศักยภาพของไทย ทั้งแหล่งทางวัฒนธรรมและแหล่งทางธรรมชาติเป็นมรดกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ตามแนวทางของอนุสัญญาฯ

๒. องค์ความรู้ที่ต้องใช้ในการทำงานเรื่องนั้นให้สำเร็จ

องค์ความรู้ที่สำคัญ คือ  การดำเนินการตามแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) และการวางแผนการทำงานเป็นทีม เน้นการทำงานเป็นระบบ มีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดกรอบการทำงานแบบบูรณาการที่มีความเหมาะสม ส่งผลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

๓. คำสำคัญ (Key Word) ขององค์ความรู้

           ๑)  มรดกโลก                         

           ๒)  การขึ้นทะเบียน                 

๔. ดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI)

  • แหล่งที่เสนอได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก                     

๕. ขั้นตอนการปฏิบัติองค์ความรู้ที่สำคัญ

          ๕.๑   ศึกษาคู่มือแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention)

           ๕.๒    ศึกษากลไกการทำงานของศูนย์มรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา และกลไกการทำงานภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและ
ทางธรรมชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙

           ๕.๓      ศึกษาคู่มือและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Guidance on Heritage Impact Assessments (HIAs) for Cultural World Heritage Properties, Environmental Impact Assessment (EIA), Strategic Environmental Assessment (SEA)                              

           ๕.๔      ศึกษาขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากเอกสารคู่มือฯ และการขึ้นทะเบียนแหล่งของไทยที่ผ่านมา รวมทั้ง รายงานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ผ่านมา

          

๖. วิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนโดยสังเขป (ขยายความรายละเอียดของขั้นตอนแต่ละขั้นตอนในข้อ ๕)

           ๖.๑  ศึกษารายละเอียดตามที่ปรากฏในเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) ซึ่งอธิบายข้อมูลที่จำเป็น อาทิ หน้าที่ของคณะกรรมการมรดกโลก เกณฑ์การขึ้นทะเบียน ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก  ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

           ๖.๒  ศึกษาการดำเนินการของศูนย์มรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา กอม. คณะอนุกรรมการมรดกโลก
ทางธรรมชาติ คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท และหน้าที่

           ๖.๓   ศึกษาคู่มือและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Guidance on Heritage Impact Assessments (HIAs) for Cultural World Heritage Properties, Environmental Impact Assessment (EIA), Strategic Environmental Assessment (SEA) เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการ แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่มรดกโลก และพื้นที่ใกล้เคียง

๖.๔   ศึกษาศึกษาขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากเอกสารคู่มือฯ และการขึ้นทะเบียนแหล่งของไทยที่ผ่านมา รวมทั้ง รายงานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแหล่งฯ ตามลำดับ  

๖.๕   ขั้นตอนการนำเสนอแหล่ง

         การดำเนินการเพื่อเสนอแหล่งเป็นมรดกโลกจะต้องมีการวางแผน ตั้งแต่หน่วยงานรับผิดชอบเล็งเห็นถึงศักยภาพของแหล่งในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และเตรียมพร้อมด้านข้อมูล เพื่อจัดทำเอกสารนำเสนอตามแบบฟอร์ม ซึ่งต้องแสดงให้เห็นถึงคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value, OUV) ของแหล่งตามเกณฑ์ที่เสนอ รวมทั้งอธิบายการบริหารจัดการแหล่ง

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดำเนินการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างกระบวนการจัดเตรียมเอกสารนำเสนอ รวมทั้งเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กอม. และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็น ตามลำดับ และดำเนินการจัดส่งเอกสารนำเสนอฯ ที่ผ่านความเห็นชอบต่อศูนย์มรดกโลก ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนประสานงานภายหลังการจัดส่งเอกสารดังกล่าว จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญในปีที่นำเสนอ

๗. ปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน และวิธีการแก้ไข

           ๗.๑   ระยะเวลาในการเสนอเอกสารต่าง ๆ ก่อนการจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก ในบางกรณีต้องมีการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ดังนั้น จะต้องวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ รัดกุม และทันต่อกรอบเวลา

           ๗.๒   การเสนอแหล่งเป็นมรดกโลก ประเด็นสำคัญ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการปรึกษาและแจ้งล่วงหน้า เพื่อรับทราบความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อ
ลดปัญหาและอุปสรรคระหว่างการนำเสนอแหล่งเป็นมรดกโลก

๘. เทคนิคที่จะทำให้สามารถปฏิบัติงานนี้ได้ดี

๘.๑   เน้นการทำงานเป็นทีม และวางแผนการทำงานเชิงรุก ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๘.๒   เตรียมการหารือกับคณะทำงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะจัดขึ้น

๘.๓   การเป็นกรรมการมรดกโลกถือเป็นบทบาทที่สำคัญ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เนื่องจากทำให้มีโอกาสในการชี้แจง และ/หรือ ทักท้วงอย่างทันท่วงทีต่อคณะกรรมการมรดกโลก และ/หรือ ศูนย์มรดกโลก และ/หรือ องค์กรที่ปรึกษา ในระหว่างการประชุมที่มีการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนั้น การได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการมรดกโลกจึงเป็นการสร้างโอกาสที่สำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันแหล่งที่มีศักยภาพของไทย เข้าสู่การเป็นแหล่งมรดกโลก รวมทั้งแหล่งมรดกโลกที่มีภัยคุกคามที่ต้องจัดทำรายงานสถานภาพการอนุรักษ์ (State of Conservation, SOC) ตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก

๙. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (CK Expert)

    นางกรพินธุ์ พยัฆคประการณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานการบริหารจัดการมรดกโลก กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

 

แสดงความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น