คู่มือการปฏิบัติงาน  : กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน

บทนำ

จากสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การไร้ที่ดินทำกิน มีการบุกรุกที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ ปัญหาสิทธิในที่ดินที่ประชาชนได้รับมีความแตกต่างกัน ปัญหาความขัดแย้งจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน อย่างไม่มีประสิทธิภาพ การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน และการทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ ปัญหาต่างๆ มีความสัมพันธ์กันและเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายเร่งรัดดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยยึดแนวพระราชดำริที่ให้ประชาชน สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ทั้งนี้ในการดำเนินการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้กำหนดนโยบาย การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เป็นกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช.กำหนด ในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เพื่อร่วมกัน บริหารจัดการที่ดิน รวมทั้งการส่งเสริมการประกอบอาชีพตามศักยภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน คู่มือปฎิบัติงานกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดความชัดเจน และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน สร้างความเข้าใจในกระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล ความรู้ที่ได้นำมารวบรวมไว้ในคู่มือปฏิบัติงานนี้ เป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และเป็นความรู้ที่ฝังลึกในตัวบุคคลที่มีภูมิความรู้ (Tacit Knowledge) จึงเป็นการรวบรวมจากการถ่ายทอดประสบการณ์การปฏิบัติงานจริงของบุคลากรกองบริหารจัดการที่ดินที่มีความสามารถ ความรู้ และประสบการณ์ นับเป็น องค์ความรู้ที่ทรงคุณค่า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานการจัดที่ดินทำกิน ให้ชุมชน รุ่นต่อๆ ไป จะได้นำไปศึกษาและเชื่อมโยงความรู้ให้แก่กัน อันจะช่วยให้คนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ ได้อย่างถูกต้องและขยายผลต่อยอดความรู้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

วัตถุประสงค์ของการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน

  1. เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนได้มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ซึ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
  2. เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ ในการปฏิบัติงานให้สามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามมาตรฐาน ข้อระเบียบ หลักเกณฑ์ที่กำหนด
  3. เพื่อให้บุคลากรที่มีความสนใจ สามารถนำคู่มือการปฏิบัติงาน กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนนี้ ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อไป

คำจำกัดความ

  1. การบริหารจัดการ หมายความว่า การดูแลรักษา การสงวนหวงห้าม การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การพัฒนา การกระจายการถือครองที่ดิน การใช้ประโยชน์ หรือการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
  2. ที่ดิน หมายความว่า พื้นที่ดินทั่วไป และให้หมายความรวมถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ ทะเล และที่ชายฝั่งทะเลด้วย
  3. ทรัพยากรดิน หมายความว่า ดิน และหมายรวมถึง หิน กรวด ทราย แร่ธาตุ และอินทรีย์วัตถุต่าง ๆ ที่เจือปนอยู่ในเนื้อดิน
  4. นโยบาย หมายความว่า หลักการหรือกรอบความคิด แนวทาง กลวิธีการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้นๆ เป็นสิ่งที่แสดงถึงความตั้งใจของผู้บริหารในการปฏิบัติงาน และใช้เป็นกรอบแนวคิดในการพิจารณา ตัดสินใจ จัดทำแผน จัดทำโครงการ
  5. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน หมายความว่า การจัดที่ดินทำกินให้ผู้ยากไร้ ภายใต้การดำเนินงานของ คทช. ให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐ และ คทช. กำหนด

ความรับผิดชอบ

  1. ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการที่ดิน
  2. ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
  3. นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ระดับชำนาญการ ระดับปฏิบัติงาน
  4. พนักงานราชการ
  5. เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน

ระเบียบปฏิบัติ (ขั้นตอนการปฏิบัติงาน)

ในกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ขั้นตอนเริ่มต้นคือ กระบวนการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกระบวนการแรกในการเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเบื้องต้น ข้อเท็จจริง สภาพปัญหาในการบริหารจัดการที่ดินที่จะนำมาใช้ในการประกอบการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ดำเนินงานโดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ผ่านคณะอนุกรรมการ ๔ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เพื่อจัดที่ดินทำกินให้ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงาน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการในเรื่องของการติดตาม การประเมินผล เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค ของการดำเนินงานเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย แผน มาตรการฯ เป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผล ตลอดจนเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ปรับปรุง ทบทวน นโยบาย แผนฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

1. การศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
2. สร้างกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานและบูรณาการการทำงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน 2) คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน 3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ 4) คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด)
3. การจัดหาพื้นที่ 1) หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมและจัดทำข้อมูล ที่เกี่ยวข้องเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน 2) คทช.จังหวัดดำเนินการพิจารณาขอบเขตพื้นที่ดำเนินการและข้อมูลพื้นที่ผู้ครอบครองเดิม (ถ้ามี) เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน พิจารณาข้อมูลพื้นที่ เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมาย
4. การจัดที่ดิน 1) คทช.จังหวัด รับมอบข้อมูลพื้นที่ และข้อมูลครอบครองเดิม (ถ้ามี) จากคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน และดำเนินการคัดเลือกบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่ คทช.กำหนด พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน 2) รายงานผลต่อคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน โดยผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ยื่นขออนุญาตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามกฎหมายของที่ดินแต่ละประเภท
5. การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ พิจารณาข้อมูลพื้นที่และข้อมูลผู้ครอบครอง
6. การอนุญาตและทำสัญญา คทช. มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต
7. การติดตามประเมินผล ติดตามผลการดำเนินงานโดย คทช.จังหวัด หน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และคทช.

1. การศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

เหตุผลในการปฏิบัติ

– คำแถลงนโยบายรัฐบาล ของคณะรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ ข้อ ๙.๓ … “เร่งรัดการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้”…

– คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๗

– ร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ยากไร้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

เทคนิคในการปฏิบัติ

– ศึกษาวิเคราะห์ นโยบายรัฐบาล

– การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง สภาพปัญหาและสถานการณ์การบริหารจัดการที่ดิน

– วงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA)

– การประเมินผลโครงการ เช่น รูปแบบการประเมินผลโดยใช้ CIPP model

 

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

– นโยบายรัฐบาล

– กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ข้อกำหนด มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง

– กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

45 วัน

 

วิธีการติดตามผลภายหลัง

– รายงาน คทช. ตามระยะเวลาที่กำหนด

 

2. สร้างกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานและบูรณาการการทำงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน 2) คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน 3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ 4) คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด)

เหตุผลในการปฏิบัติ

เพื่อให้มีกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 

เทคนิคในการปฏิบัติ

– การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน

– การออกกฎ ระเบียบ คำสั่ง และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

– การบริหารจัดการองค์กร

– กลยุทธ์ในการบริหารงาน (Balanced Scorecard)

 

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

– การบริหารจัดการองค์กร

– ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน

 

ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

45 วัน

 

วิธีการติดตามผลภายหลัง

– รายงานผ่าน คทช. ตามระยะเวลาที่กำหนด

 

3. การจัดหาพื้นที่ 1) หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมและจัดทำข้อมูล ที่เกี่ยวข้องเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน 2) คทช.จังหวัดดำเนินการพิจารณาขอบเขตพื้นที่ดำเนินการและข้อมูลพื้นที่ผู้ครอบครองเดิม (ถ้ามี) เสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน พิจารณาข้อมูลพื้นที่ เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมาย

เหตุผลในการปฏิบัติ

การตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ ราษฎรในพื้นที่และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้ได้พื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนให้แก่ผู้ยากไร้ สนองต่อนโยบายรัฐบาล

 

เทคนิคในการปฏิบัติ

– การชี้แจงทำความเข้าใจราษฎรในพื้นที่และการปรับแนวคิดของเจ้าหน้าที่ในดำเนินการ

– กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เสริมสร้างศักยภาพและการเตรียมความพร้อมในชุมชน

– การประสานหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

– การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) และการระดมสมอง (Brainstorming)

– การวิเคราะห์พื้นที่ที่มีศักยภาพ

– การบริหารจัดการเชิงพื้นที่  (area – based approach)

 

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

– ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรดิน

– หลักเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่

– กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน

– ข้อมูลพื้นที่

ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

90 วัน

 

วิธีการติดตามผลภายหลัง

– รายงาน คทช. คณะอนุกรรมการจัดที่ดินคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และคทช.จังหวัดตามระยะเวลาที่กำหนด

 

4. การจัดที่ดิน 1) คทช.จังหวัด รับมอบข้อมูลพื้นที่ และข้อมูลครอบครองเดิม (ถ้ามี) จากคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน และดำเนินการคัดเลือกบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่ คทช.กำหนด พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน 2) รายงานผลต่อคณะอนุกรรมการจัดที่ดิน โดยผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ยื่นขออนุญาตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามกฎหมายของที่ดินแต่ละประเภท

เหตุผลในการปฏิบัติ

เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรพื้นที่ให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ ตรงตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดที่ดิน การจัดสวัสดิการของรัฐแก่ราษฎร

 

เทคนิคในการปฏิบัติ

– ทักษะในการดำเนินงานด้วยความถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ กฎหมายระเบียบปฏิบัติ ยึดมั่นในหลักวิชาการและจริยธรรม

– หลักการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล

 

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

– หลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่และบุคคล ตามที่ คทช.เห็นชอบ

– บัญชีสถานะและแยกประเภทผู้ถือครองที่ดิน

– บัญชีรายชื่อผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน

 

ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

90 วัน

 

วิธีการติดตามผลภายหลัง

รายงานข้อมูลดังกล่าว ให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และรายงาน คทช.ทราบผลการดำเนินงาน

 

5. การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ พิจารณาข้อมูลพื้นที่และข้อมูลผู้ครอบครอง

เหตุผลในการปฏิบัติ

ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในการจัดทำแผนส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎร/ชุมชน กลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และการตลาดในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาสาธารณูปโภค พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม

 

เทคนิคในการปฏิบัติ

– การประสานหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

– ทักษะการสื่อสารและการปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกับชุมชน

– การวิเคราะห์แผนงานให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการชุมชน

– การพัฒนาศักยภาพของชุมชน

 

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

– รายงานข้อมูลพื้นที่ข้อมูลผู้ครอบครอง และที่เกี่ยวข้อง

– แผนส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ

 

ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

90 วัน

 

วิธีการติดตามผลภายหลัง

รายงาน คทช.ทราบผลการดำเนินงาน

 

6. การอนุญาตและทำสัญญา คทช. มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต

เหตุผลในการปฏิบัติ

เพื่อให้ราษฎร ชุมชน มีเอกสารรับรองการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่/ที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องและรัฐสามารถดูแล กำกับควบคุมได้

 

เทคนิคในการปฏิบัติ

– การจัดทำเอกสารอนุญาตและทำสัญญาที่เกี่ยวข้อง

 

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

เอกสารรายชื่อราษฎร/ชุมชนกลุ่มเป้าหมาย

 

ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

30 วัน

 

วิธีการติดตามผลภายหลัง

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

7. การติดตามประเมินผล ติดตามผลการดำเนินงานโดย คทช.จังหวัด หน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และคทช.

เหตุผลในการปฏิบัติ

เพื่อติดตามผลการดำเนินงานให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทาง มาตรการที่กำหนด และเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

เทคนิคในการปฏิบัติ

– การติดตามโครงการ ( Project Performance Monitoring)

– การประเมินผลโครงการ (Project Performance Evaluation)

 

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

รายงานผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน

 

ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

รายไตรมาส

 

วิธีการติดตามผลภายหลัง

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ไฟล์และสื่อประกอบ

ภาพ/ภาพเคลื่อนไหว/ไฟล์เสียง File : ในกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน มีเอกสารอ้างอิงเพื่อให้การปฏิบัติงานสมบูรณ์ ได้แก่ 

  • นโยบายรัฐบาล คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันศุกร์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ 
  • ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ 
  • คำสั่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 
  • คำสั่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) 
  • ร่าง นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙ 
  • เทคนิคที่ใช้ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
    1. วงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA)
    2. รูปแบบการประเมินผลCIPP Model
    3. การบริหารจัดการองค์กร
    4. กลยุทธ์ในการบริหารงาน (Balanced Scorecard)
    5. การสนทนากลุ่ม (Focus group discussion FGD)
    6. การระดมสมอง (Brainstorming)
    7. การติดตามโครงการ (Project Performance Monitoring)
    8. การประเมินผลโครงการ (Project Performance Evaluation)
Comments are closed.