ผมได้มีโอกาสดูสารคดีซีรีย์เรื่อง “ประวัติศาสตร์ 101 (History 101)” ทางสตรีมมิ่งเจ้าดังอย่างเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งฉายในปี ค.ศ. 2020 ความน่าสนใจของสารคดีนี้อยู่ที่การสรุปย่อข้อมูลได้อย่างกระชับและน่าสนใจ ถึงความเป็นมาในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การค้นพบครั้งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงโลก หรือการขับเคลื่อนทางสังคม สารคดีนี้ถูกฉายเป็นตอนๆ แต่ละตอนมีความยาวเพียง 20 นาทีเศษ ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้อินโฟกราฟิกที่สวยงามและมีลูกเล่นที่ดึงดูดผู้ชม รวมถึงการใช้วีดิโอฟุตเทจหายากที่ได้รวบรวมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ตัวอย่างบางตอน เช่น  การแข่งขันพิชิตอวกาศ อาหารฟาสต์ฟู้ด และพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น ตอนหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจสำหรับสายสิ่งแวดล้อมคือตอนที่ชื่อ “พลาสติก ปาฏิหาริย์หรือหายนะ?” จึงอยากนำข้อมูลในสารคดีมาสรุปให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ

 

ประวัติศาสตร์ของพลาสติกได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เลโอ บาเกอร์ลันด์ เป็นผู้คิดค้นคำว่า “พลาสติก (Plastic)” ซึ่งมาจากภาษากรีก “พลาสติคอส (plásticos)” แปลว่า “หล่อหรือขึ้นรูป” โดยในปี ค.ศ. 1907 เขาได้ทดลองผสมสารเคมีฟินอลที่ได้จากปิโตรเลียมเข้ากับฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ และเติมสารตัวเติม (Fillers) เข้าไป แล้วให้ความร้อนจนได้ผลิตภัณฑ์ “เบคิไลต์ (Bakelite)” ออกมา ซึ่งจัดว่าเป็นพลาสติกสังเคราะห์ชนิดแรกที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยคุณสมบัติที่มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ทนความร้อนอย่างมาก และไม่นำไฟฟ้า จึงมีการนำเบคิไลต์มาขึ้นรูปและหล่อเป็นสิ่งไหนก็ได้ตามต้องการ ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 พลาสติกในรูปแบบของเบคิไลต์ มีทั้งสร้อยคอ วิทยุ โทรศัพท์ เครื่องใช้ประจำบ้าน จานชาม หรือแม้แต่สิ่งทอส่วนใหญ่ และในปัจจุบันได้มีการแบ่งประเภทของพลาสติกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 1) เทอร์โมพลาสติก (Thermoplastics) ซึ่งจะอ่อนตัวเมื่อถูกความร้อนและนำมารีไซเคิลได้ เช่น พรม เสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น (พอลิเอสเตอร์ ไนลอน เทฟลอน) และ 2) เทอร์โมเซ็ต (Thermosets) ซึ่งเมื่อขึ้นรูปและแข็งแล้ว ก็จะไม่เปลี่ยนสภาพอีกและไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า เคาน์เตอร์ครัว หรือตัวถังรถ เป็นต้น (เบคิไลต์ เมลามีน ซิลิโคน)

เลโอ บาเกอร์ลันด์ นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้ค้นพบพลาสติก

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการเร่งการพัฒนาของพลาสติกให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการใช้พลาสติกเพื่อผลิตยานรบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบสำคัญทั้งโลหะ เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม และสังกะสีล้วนขาดแคลน และยางธรรมชาติก็มีไม่มากนัก ดังนั้นพลาสติกจึงถูกนำมาใช้ทดแทนวัสดุดั้งเดิมในการผลิต เพื่อให้เพียงพอกับอุปสงค์ในยามสงคราม โดยขณะนั้นมีบริษัทปิโตรเคมีได้สร้างโรงงานขนาดใหญ่ขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนน้ำมันดิบเป็นพลาสติก ซึ่งพลาสติกนี้ได้ถูกนำมาใช้ในส่วนต่างๆ เช่น ล้อเฟืองสำหรับรถถังและเครื่องบิน การทำยางรถจากยางสังเคราะห์ และการทำเชือกและร่มชูชีพทหาร (ไนลอน) เป็นต้น พลาสติกได้มีส่วนสำคัญซึ่งช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม และสหรัฐอเมริกาก็อยู่ในสถานะผู้นำด้านการผลิตพลาสติก ทำให้ในปี ค.ศ. 1945 สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นเจ้าของกำลังการผลิตถึงสองในสามของโลก ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมพลาสติกจึงเกิดการเติบโต เปลี่ยนผ่านจากสงครามสู่สันติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคเฟื่องฟูของผู้บริโภค

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นตัวเร่งการพัฒนาพลาสติกให้เร็วขึ้น

ในปี ค.ศ. 1945 คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้จักทีวี แต่ในปี ค.ศ. 1949 เมื่อทีวีราคาถูกลงเพราะพลาสติก จึงทำให้เกิดกระแสความต้องการทีวีเป็นอย่างมาก สถิติในขณะนั้นพบว่าคนอเมริกันซื้อทีวีเฉลี่ย 100,000 เครื่องต่อสัปดาห์ ในด้านการคุมกำเนิด พลาสติกก็ถูกนำมาผลิตเป็นถุงยางอนามัย โดยพบว่าในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1955-1965 คนอเมริกันมากถึง 42% ได้หันมาใช้ถุงยางอนามัย และในปี ค.ศ. 1965 สัญลักษณ์ของพลาสติกทั้งมวลก็ถือกำเนิด นั่นก็คือ “ถุงพลาสติก” ซึ่งในปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าถุงพลาสติกทั่วโลกถูกใช้ประมาณ 500,000 ล้านใบต่อปี หรือ 1 ล้านใบต่อนาทีเลยทีเดียว เมื่อดูสถิติย้อนหลังของการผลิตพลาสติกทั่วโลกในปี ค.ศ. 1950 มีพลาสติกเพียง 1.5 ล้านตัน แต่พอมาถึงช่วง ค.ศ. 1970 ได้มีการผลิตพลาสติกทั่วโลกสูงถึง 50 ล้านตัน หรือเทียบเท่าตึกเอ็มไพร์สเตทจำนวน 140 ตึก

จะเห็นได้ว่าปริมาณความต้องการใช้พลาสติกในอดีตนั้นบูมเป็นอย่างมาก และกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผู้คนในยุคนั้นกำลังเสพติดกับพลาสติก ซึ่งเหมือนยาขนานดีที่แก้ได้สารพัดโรค เติมเต็มความฝันได้สารพัดสิ่ง แต่ผลข้างเคียงหรือผลกระทบที่ตามมานั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างคาดไม่ถึง ในตอนต่อไปนั้น จะเล่าถึงผลกระทบที่ตามมาจากการใช้พลาสติก รวมถึงความพยายามในการแก้ปัญหา และบทสรุปของเรื่องนี้ครับ

    แสดงความคิดเห็น

    กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น