รับมืออย่างไร เมื่อผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด

ผู้เขียนเองมีประสบการณ์การตรวจ ATK 2 ขีด โดยมักจะมีการตรวจ ATK ทุกวันจันทร์ก่อนเริ่มปฏิบัติงานในออฟฟิศ ผลการตรวจพบเพียงขีดเดียวทุกครั้ง ต่อมาเย็นวันอาทิตย์ 13 มีนาคม 2565 เมื่อคนใกล้ตัวผมต้องแอดมิทในโรงพยาบาลเอกชนย่านฝั่งธน และผมตั้งใจไปนอนเฝ้าคนไข้ในห้องพักของโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลมีระเบียบว่า คนไข้จะต้องได้รับการตรวจ RT-PCR และญาติจะต้องตรวจ ATK ซึ่งมีผลปรากฏออกมาว่า คนไข้ไม่พบเชื้อโควิด 19 แต่ผลตรวจ ATK ของผมขึ้นสองขีด ทำให้ผมต้องกลับบ้านในคืนนั้นไปก่อน ต่อมาเช้าวันจันทร์ ผมจึงไปตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผลการติดเชื้อโควิด 19 ทั้งนี้ วิธีตรวจ RT-PCR (Real Time- Polymerase Chain Reaction) เป็นวิธีการเก็บสารคัดหลั่งแล้วนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ผลตรวจสอบมีความแม่นยำสูง แม้จะมีเชื้อน้อย

ก่อนออกจากบ้าน ผมได้โทรสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 และได้รับข้อมูลว่า สามารถไปตรวจ RT-PCR ได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐโดยใช้สิทธิข้าราชการ แต่พอไปถึงโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่งย่านฝั่งธน รับตรวจคนไข้ 100 คนต่อวัน และเปิดจองคิวตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า และคิวเต็มอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อวันสูงมาก ผมจึงต้องหาโรงพยาบาลของรัฐแห่งอื่น เพื่อให้ได้รับการตรวจ RT-PCR เนื่องจากค่าตรวจมีราคาแพงไม่น้อย  หลังตระเวนหาโรงพยาบาลของรัฐเพิ่มเติมก็พบว่า ไม่สามารถหาสถานที่ตรวจ RT-PCR ของโรงพยาบาลของรัฐได้ นอกจากช่องทางการบริการของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นคลินิก โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล

ผมตัดสินใจตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งเดิมย่านฝั่งธน มีค่าใช้จ่าย 3,500 บาท เพื่อนำผลการตรวจไปใช้ในการเข้ารักษาตัวแบบ Hospitel หากไม่มีผลการตรวจ โรงพยาบาลก็ไม่รับเข้าเป็นผู้ป่วยในตามระบบ Hospitel และอาจต้องไปเข้ารับการรักษาแบบ Community Isolation หรือ Home Isolation แทน จากนั้น จึงได้รอผลการตรวจ 24 ชั่วโมง

พอเช้าวันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 ผมได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล แจ้งผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ ว่า ผลเป็นบวก และผมได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ตอนเที่ยงวันของวันนี้  มีระยะเวลากักตัว 10 วัน ค่าใช้จ่าย จำนวน 20,000 บาท จ่ายเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีโรงพยาบาลก่อนเข้าพัก หากมีการเคลมค่าใช้จ่ายจากบริษัทประกันสุขภาพ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลจะจัดเตรียมเอกสารประวัติการรักษาพยาบาลให้

ภายหลังผลทดสอบ ATK ขึ้น 2 ขีดแล้ว ผมเริ่มกักตัวเอง และแยกตัวอยู่ห่างจากคนอื่นๆ โดยตัวผมเองสามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่มีอาการของโรคโควิด 19 ที่รุนแรง โดยทั่วไป ผลการตรวจ ATK เป็นบวก แต่ไม่มีอาการรุนแรง กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำให้เข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ และหากมีอาการรุนแรง สามารถประสานหน่วยบริการเพื่อส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยโทรแจ้งสายด่วน 1330 กด 14 หรือติดต่อผ่านไลน์ @nhso คลิก https://lin.ee/zzn3pU6  หรือสแกน QR code หรือลงทะเบียนผ่านเฟสบุ๊ก สปสช. https://www.facebook.com/NHSO.Thailand เข้าระบบการรักษา Home Isolation การโทรติดต่อทางสายด่วนอาจจะติดยาก หรือไม่มีคนรับสาย เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงมาก จึงควรติดต่อผ่านไลน์ หรือสแกน QR code หรือลงทะเบียนผ่านเวปไซต์จะสะดวกมากกว่า พร้อมกับตรวจสอบรายละเอียดการใช้สิทธิการรักษาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคน

ในช่วงแรกๆ ที่รู้ผลการตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นบวก อาจตกใจ และวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ หรือกำลังจะเป็น อีกทั้งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้ารับการรักษาในระบบไหนดี ขอแนะนำให้ตรวจสอบอาการที่เราเป็นอยู่ โดยทั่วไปอาการจะเป็นเพียงช่วงหนึ่ง เช่น ปวดหัว มีไข้ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แต่อาการเหล่านี้ สามารถรักษาได้ตามอาการ และพิจารณาความจำเป็นอื่นด้วย อาทิ เราสามารถแยกตัวออกจากคนอื่นในครอบครัวได้ไหม เช่น ที่นอน อุปกรณ์ใช้รับประทานอาหาร และใช้ห้องน้ำร่วมกัน อาจทำให้คนในครอบครัวมีโอกาสได้รับเชื้อ รวมถึงสมาชิกในบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

ในช่วงที่มีอาการของโรคโควิด 19 ผู้ป่วยที่รักษาแบบ Home Isolation ควรมีการตรวจวัดและบันทึกอาการที่สำคัญ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช่น อุณหภูมิ  อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิต หรือปริมาณออกซิเจนในเลือด เป็นต้น หากมีการรักษาแบบ Hospitel จะมีการตรวจวัดอาการที่สำคัญดังกล่าว ทุก 4 ชั่วโมงในเวลากลางวัน และถ่ายรูปผลการตรวจวัดส่งทางไลน์ให้แก่พยาบาล พร้อมบันทึกข้อมูลลงในแพลตฟอร์มของโรงพยาบาล รวมถึงเพิ่มการตรวจเอกซเรย์ปอดทุก 3 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อนของปอด ทั้งนี้ ความแตกต่างในการรักษาแบบ Hospitel ผู้ป่วยที่เข้าพักแบบ Hospitel ในวันแรก จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน พร้อมกับยาละลายเสมหะ และลดอาการไอร่วมด้วย

บางทีผู้อ่านอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตัดสินใจของผู้เขียนว่า ไม่มีอาการของโรคโควิด 19 ที่รุนแรง แต่ทำไมไม่ทำการรักษาแบบ Home Isolation และทำไมเลือกรักษาผ่านแบบ Hospitel เนื่องจากบ้านผู้เขียนมีพื้นที่แคบ คนใกล้ชิดออกจากโรงพยาบาลมาไม่นาน ร่างกายยังไม่แข็งแรงมากนัก และมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงภายหลังติดเชื้อ ประกอบกับผู้เขียนได้ทำกรมธรรม์ประกันภัยส่วนบุคคลคุ้มครองการติดเชื้อโควิด 19 จึงเข้ารับการรักษาแบบ Hospitel สำหรับการเข้ารับการรักษาแบบ Hospitel ในแต่ละโรงพยาบาล หรือโรงแรมจะมีเงื่อนไขการให้บริการที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน เช่น จำนวนวันเข้าพัก ราคาการเข้าพักตลอดระยะเวลา ราคาดังกล่าวรวมค่าตรวจรักษาและค่ายาไว้แล้ว จำนวนคนต่อห้อง การจัดส่งอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้อง เป็นต้น อนึ่ง ระหว่างที่ผู้เขียนเข้ารับการรักษาใน Hospitel มีพ่อ แม่ น้องชาย และหลาน พักอยู่ต่างจังหวัด ทั้ง 4 คนติดเชื้อโควิด 19 รักษาแบบ Home Isolation และผู้เขียนได้สอบถามอาการของทุกคนเป็นประจำ ทำให้ทราบอาการของผู้ป่วยโควิด 19 เป็นอย่างดี พร้อมกับแนวทางการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยาลดไข้ และทุกคนมีอาการดีขึ้นจนเป็นปกติภายใน 3-4 วัน โดยที่ไม่ต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาละลายเสมหะ

ผู้เขียนหวังว่า ข้อมูลข้างต้นคงจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อ่านได้รับทราบ เพื่อจะได้มีสติในการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจการเลือกวิธีดูแลและรักษาตัวเองที่ถูกต้องและเหมาะสม หากพบว่าผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด

ผู้เขียน: นายฉัตรชัย อินต๊ะทา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ/กตป.

    แสดงความคิดเห็น

    กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น