ชื่อองค์ความรู้  : ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

วันที่ เดือน พ.ศ. ที่เผยแพร่ : กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้รู้/หน่วยงานเจ้าของความรู้

ชื่อ-นามสกุล : นายพิสันต์ ธนะสารสมบูรณ์
กลุ่มงาน :

กลุ่มงานนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน

กอง :

บริหารจัดการที่ดิน

โทรศัพท์ :

02-2656548

E-mail : onep.land@gmail.com

อธิบายความเชื่อมโยงขององค์ความรู้นี้กับภารกิจของสำนัก/กอง/กลุ่ม

ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ที่จะใช้เป็นกรอบแนวทาง
การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะยาว ในเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของประเทศ

Key Words ขององค์ความรู้

  • ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
  • คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

สาระสำคัญขององค์ความรู้

  1. ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ….
  2. เหตุผลความจำเป็น
  3.    เนื่องจากในปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน สังกัดอยู่หลายกระทรวง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม เป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการตามกฎหมายที่รับผิดชอบ ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน และยังมีคณะกรรมการต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอีกจำนวนมาก ทำให้การบริหาร
    จัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไม่สอดคล้องกัน เช่น
    คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ
    ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ คณะกรรมการผังเมือง ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ตามพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมการระดับพระราชบัญญัติขึ้น โดยกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาตินี้
    เป็นกฎหมายเชิงนโยบาย (Policy Guideline) ที่เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในภาพรวม ไม่ได้มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายเฉพาะที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด และเพื่อให้มีคณะกรรมการระดับชาติในการทำหน้าที่บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีความเป็นเอกภาพ อันจะส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ
    มีแนวทางการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประสานสอดคล้องกันทั้งระบบ สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้อย่างแท้จริง โดยกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาตินี้ ควรเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ที่ใช้เป็นกรอบแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะยาว ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาล
  4. ความเป็นมาของ ร่าง พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ….
  5. ๑. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ
    ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๒๐๖ ง ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗) องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ ๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ
    คนที่ ๒ กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน ๙ คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน ๑๐ คน และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ ฯลฯ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
    เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายและแผน
    การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างเหมาะสมและ
    มีประสิทธิภาพ เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มี ปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ฯลฯ
  6. ๒.  คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่
    ๓/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๘ พิจารณาเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ มีกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ควรที่จะมีการพิจารณาทบทวนว่า จะสามารถนำมารวมกันให้เป็นกฎหมายฉบับเดียวกันได้หรือไม่ หรือยังคงใช้กฎหมายเดิมแล้วปรับปรุงแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการที่ดินในภาพรวมทั้งหมด จึงมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการกฎหมายการบริหารจัดการที่ดิน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้เห็นชอบลงนามในคำสั่งที่  ๓/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๘ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการกฎหมายการบริหารจัดการ
    ที่ดิน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๖ คน และมีผู้แทนของหน่วยงานร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ จำนวน ๑๗ หน่วยงาน ได้แก่  กรมที่ดิน กรมการปกครอง กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น และรองเลขาธิการสำนักงาน
    นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ ๑) จัดทำร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ….  ๒) พิจารณาเสนอความเห็นในการจัดให้มี ปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงาน องค์กร เพื่อให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้อง กับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
  7. ๓.  ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่
    ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๙  ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ นายกรัฐมนตรี
    ประธานกรรมการ มีข้อสั่งการให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาหลักการและเหตุผลให้รอบคอบและครอบคลุมในทุกมิติการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ พร้อมทั้งให้มีการรับฟังความเห็น
    อย่างกว้างขวาง เพื่อให้พระราชบัญญัติฯ มีความ สมบูรณ์ยั่งยืน
  8. ๔.  สผ.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่อ
    ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดิน พ.ศ. …. โดยจัด
    ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. …. และการสร้างความเข้าใจกระบวนการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล” โดยจัดรับฟังความคิดเห็น จำนวน ๔ ภาค มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเข้าร่วม ประมาณ ๕๐๐ คน ดังนี้
  9.    ๑. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙ จังหวัดขอนแก่น
  10.    ๒. ภาคเหนือ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๙ ณ จังหวัดเชียงใหม่
  11.    ๓. ภาคกลาง วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙  ณ กรุงเทพมหานคร
  12.    ๔. ภาคใต้ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ จังหวัดกระบี่
  13. ๕.ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่
    ๒/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่ประชุมเห็นชอบ
    ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ….
    ตามที่คณะอนุกรรมการบูรณาการกฎหมายการบริหารจัดการที่ดิน เสนอ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งเดือน และประสานกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่
    ของ คทช. และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาไปในคราวเดียวกัน และเนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วน ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบและรับรองรายงานการประชุม เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
  14. ๖.   ในการประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ ครั้งที่ ๗/๒๕๕๙
    เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เห็นควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
    ให้สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินงานของ คทช.
  15. ๗.  สผ. ได้นำร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ….  และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอรองนายกรัฐมนตรี
    (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือที่ นร ๐๕๐๓/๔๒๘๑๑ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ แจ้งว่า
    รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้คืนร่างพระราชบัญญัติ
    รวม ๒ ฉบับ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฏหมายยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป เมื่อกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติมีผลใช้บังคับแล้ว
  16. ๘.  สผ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้ปรับปรุงแบบตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย (Checklist ๑๐ ประการ) โดยจัดทำเป็นรายงานเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผ่านความเห็นชอบการออกเสียงประชามติ และยุทธศาสตร์ชาติ
    กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เห็นชอบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ….  และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..)
    พ.ศ. …. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี
  17. ๙. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ..)
    พ.ศ. …. รวม ๒ ฉบับ ตามที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาเกษตรกรแห่งชาติไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
  18. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. …. มีดังนี้
  19.    ๑.  กำหนดวัตถุประสงค์และหลักการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
  20.    ๒. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ คทช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย และแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีกฎหมายหรือให้แก้ไขเพิ่มเติม ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับ
    การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
  21.    ๓.    กำหนดให้การดำเนินการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศษรฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามที่ คทช. กำหนด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
  22.    ๔.    กำหนดให้ คทช. มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะอนุกรรมการ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาศึกษา เสนอแนะหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่ คทช. มอบหมาย
  23.    ๕.    กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการ คทช. มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของคทช.คณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะอนุกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งวิเคราะห์นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ รวมทั้งแนวโน้มและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเสนอต่อ คทช.เพื่อพิจารณา
  24.    ๖.      กำหนดบทเฉพาะกาลให้ คทช. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้ง เลขาธิการ คทช. และจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ คทช. ในสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน ตามพระราชบัญญัตินี้
Comments are closed.