ศักดิ์ของกฎหมาย สาระสำคัญ

        กฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยมีมากมาย หลายประเภท เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น กฎหมายบางประเภทก็มีผลบังคับใช้ กับบุคคลโดยทั่วไป บางประเภทก็มีผลบังคับใช้เฉพาะประชาชนที่อยู่ในเขตท้องที่นั้นๆ กฎหมายที่มีความสำคัญบังคับใช้กับบุคคลทั่วไป
ย่อมมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายที่มีผลบังคับใช้เฉพาะประชาชนที่อยู่ในเขตท้องที่นั้นๆ ซึ่งเรียกลักษณะนี้ว่า
ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย ศักดิ์ของกฎหมายไทย มีดังนี้

1. ลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทย
2. ประโยชน์การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมาย

ลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทย
การจัดลำดับฐานะหรือความสูงต่ำของกฎหมาย โดยมีหลักในการตีความว่า กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า คือ มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า
หรือมีลำดับชั้นสูงกว่ามิได้ ดังนั้นกฎหมายที่มีศักดิ์หรือลำดับชั้นต่ำกว่าหรืออาจเรียกอีกอย่างว่ากฎหมายลูก จะต้องออกหรือตราออกมาให้มีข้อความสอดคล้องกับกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า
ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ให้อำนาจกฎหมายลูกไว้ หากบัญญัติออกมามีข้อความขัดแย้งหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายแม่แล้ว จะมีผลให้กฎหมายลูกที่มีศักดิ์ต่ำกว่าใช้บังคับมิได้
ดังนั้น ศักดิ์ของกฎหมายจึงหมายถึง ลำดับฐานะหรือความสูงต่ำของกฎหมายที่มีความสำคัญสูงกว่าหรือต่ำกว่ากัน การจัดแบ่งลำดับชั้นของกฎหมายไทยสามารถจัดแบ่งลำดับชั้น ออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใดขัดแย้งไม่ได้ โดยจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจ         อธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน
2. พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น
3. พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีตามบท บัญญัติในรัฐธรรมนูญใช้ในกรณีจำเป็นรีบด่วนหรือเรื่องที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยของประเทศ แต่ต้องเสนอต่อรัฐสภาโดยเร็ว
4. พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดรายละเอียดตามพระราชบัญญัติที่กำหนดไว้
5. กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่รัฐมนตรีตราขึ้นผ่านคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด
6. ข้อบังคับหรือข้อบัญญัติ เป็นกฎหมายขององค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เป็นต้น
7. ประกาศคำสั่ง เป็นกฎหมายเฉพาะกิจ เช่น พระบรมราชโองการ ประกาศคณะปฎิวัติ คำสั่งหน่วยงานราชการ เป็นต้น

ประโยชน์การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมายก็เพื่อประโยชน์ในการเริ่มต้นจัดทำร่างกฎหมายว่ากฎหมายประเภทนี้ระดับใดเป็นผู้จัดทำร่างเพื่อตราและประกาศใช้บังคับ
นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ใช้กฎหมายทราบลำดับชั้นของกฎหมายที่ใช้อยู่ว่าประเภทใด หรือฉบับใดมีศักดิ์และความสำคัญสูงกว่ากัน สามารถพิจารณาตรากฎหมายฉบับใหม่เพื่อแก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิกฉบับเดิมได้ตามศักดิ์ของกฎหมาย
รวมทั้งกรณีมีปัญหาในการวินิจฉัยและตีความกฎหมาย โดยยึดหลักว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะนั้นต้องให้กฎหมายที่มีศักดิ์ระดับเดียวกันหรือสูงกว่ามาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก จึงจะมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย

ที่มา ส่วนนิติการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

    1. pongsatorn

      4 February, 2022

      ขอบคุณครับ

    แสดงความคิดเห็น

    กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น