คู่มือการพิจารณา ให้ความเห็นเบื้องต้น ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม


.บทนำ 

_________ปัจจุบันประเทศไทย อยู่ในช่วงของการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของประชาชน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการคาดการณ์ผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการติดตามตรวจสอบผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในการพิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้นต่อ EIA สำหรับโครงการของเอกชนมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนตามกฎหมาย แต่โครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ไม่มีการกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ 

_________อย่างไรก็ตาม สผ. ได้มีคำสั่งเพื่อกำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ สผ. เป็นการภายใน เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณา EIA การพิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้นต่อ EIA เป็นการวิเคราะห์และกลั่นกรองประเด็นที่ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนกระบวนการพิจารณา EIA ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ดังนั้น สผ. จึงได้จัดทำคู่มือฉบับนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคลากรและสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น 

วัตถุประสงค์ 

  1. เพื่อให้การพิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้นต่อ EIA เป็นไปอย่างมีระบบและมีมาตรฐานเดียวกัน 
  2. เพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับการทำงานของบุคลาการใหม่และนำไปสู่การเป็นมืออาชีพ 
  3. เพื่อสร้างความมั่นใจต่อการดำเนินการพิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้นต่อ EIA มีความถูกต้องตามหลักวิชาการและภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้
การจัดทำวาระการ ประชุม
สำรวจพื้นที่โครงการ
ทบทวนให้ความเห็น เบื้องต้น
พิจารณาความ เหมาะสมของการได้มา ของข้อมูล
เข้าใจรายละเอียด โครงการ

การจัดทำวาระการ ประชุม

เหตุผลในการปฏิบัติ

  • เพื่อสรุป สาระสำคัญของโครงการ เหตุผลความจำเป็น รายละเอียดโครงการผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ และผลการพิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้น นำเสนอต่อ คชก.

เทคนิคในการปฏิบัติ

  • ใช้ภาษาเขียน ถูกต้อง และมีความชัดเจน
  • เรียบเรียงลำดับการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

  • ทักษะการถ่ายทอดสาระสำคัญ และประเด็นความเห็นเบื้องต้นได้อย่างชัดเจน และเข้าใจง่าย

วิธีการติดตามผลภายหลัง

  • เอกสารวาระประชุมได้รับอนุมัติให้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของ คชก.

สำรวจพื้นที่โครงการ

เหตุผลในการปฏิบัติ

  • เพื่อตรวจสอบ ยืนยัน ผลการศึกษาในรายงานและผลการให้ความเห็นเบื้องต้นฯ
  • เพื่อนำเสนอสภาพพื้นที่จริงประกอบการพิจารณาของ (คชก.)

เทคนิคในการปฏิบัติ

  • ตรวจสอบที่ตั้ง และเส้นทางเข้าโครงการเบื้องต้น เพื่อวางแผนเข้าสำรวจ
  • ประสานงานการเข้าพื้นที่โครงการกับเจ้าของโครงการ และหน่วยงานที่กำกับดูแลในพื้นที่
  • ตรวจสอบความสอดคล้องของข้อมูลในรายงานฯ กับสภาพพื้นที่จริง และประเด็นข้อคิดเห็นเบื้องต้น

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

  • ข้อมูลลักษณะภูมิประเทศ
  • ข้อมูลสภาพสังคม ในพื้นที่
  • ข้อมูลหน่วยงานที่กำกับ ดูแลพื้นที่ที่ตั้งโครงการ
  • รายละเอียดของโครงการ
  • ประเด็นผลกระทบและข้อคิดเห็นจากการพิจารณารายงานเบื้องต้น

วิธีการติดตามผลภายหลัง

  • รายงานการผลสำรวจสภาพพื้นที่โครงการ

ทบทวนให้ความเห็น เบื้องต้น

เหตุผลในการปฏิบัติ

  • เพื่อรวบรวมประเด็นที่ขาดความชัดเจนหรือขาดความครบถ้วนสมบูรณ์

เทคนิคในการปฏิบัติ

  • ศึกษาและทำความเข้าใจแนวทางการจัดทำรายงานเฉพาะด้าน และนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการที่จะต้องพิจารณา
  • พิจารณาให้ความเห็นเป็นรายประเด็นทั้งการศึกษาสภาพปัจจุบัน การประเมินผลกระทบ การกำหนดมาตรการ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางความคิด และสามารถจับประเด็นความสอดคล้อง ในหัวข้อต่างๆ
  • หารือประเด็นที่ไม่ชัดเจนกับผู้ทรงคุณวุฒิ

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

  • ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • แนวทางการจัดทำรายงานเฉพาะด้าน
  • แนวทางความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ที่ผ่านมา

(* ให้แนบเอกสารเพิ่ม)

วิธีการติดตามผลภายหลัง

  • ประเด็นข้อคิดเห็นที่เสนอในวาระได้อย่างครบถ้วน

พิจารณาความ เหมาะสมของการได้มา ของข้อมูล

เหตุผลในการปฏิบัติ

  • เพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งในด้านบวก และด้านลบ

เทคนิคในการปฏิบัติ

  • ศึกษาและทำความเข้าใจแนวทางการจัดทำรายงานเฉพาะด้าน และนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการที่จะต้องพิจารณา

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

  • ความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตการศึกษา
  • ทักษะการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล
  • แนวทางการจัดทำรายงานเฉพาะด้าน

วิธีการติดตามผลภายหลัง

  • ข้อคิดเห็นต่อความเหมาะสมของการได้มาของข้อมูล
  • การทบทวนความถูกต้องของข้อคิดเห็นฯ โดยหัวหน้างาน

เข้าใจรายละเอียด โครงการ

เหตุผลในการปฏิบัติ

  • เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และสามารถใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้น ได้อย่างเหมาะสม

เทคนิคในการปฏิบัติ

  • ศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดของโครงการ
  • สอบถาม เรียนรู้ และรับการถ่ายทอดความรู้จากผู้มีประสบการณ์

อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้

  • ข้อมูลรายละเอียดโครงการ (เรียนรู้ด้วยตนเอง)
  • ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ (สอบถามจากผู้รู้)

วิธีการติดตามผลภายหลัง

  • สรุปรายละเอียดโครงการได้อย่างถูกต้อง

ข้อควรพึงระวัง

การพิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้น จะต้องเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535  และคำสั่ง สผ. ที่ 122/2545 ลงวันที่ มีนาคม 2545 เรื่อง กำหนดระยะเวลาการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ โครงการร่วมกับเอกชน ซึ่งต้องเสนอขอรับความเห็นจากคณะรัฐมนตรี