Viewing 1 reply thread

  • Author
    • #3970

      Anonymous
      Inactive

      คำสั่งนายกรัฐมนตรีก่อให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและผู้บริโภค ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

    • #3983

      ONEP KM Team
      Member

      การอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อระงับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้ความเค็มในพื้นที่น้ำจืดนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการสะสมและแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งก็คือ ความเค็มที่จะสะสมและแพร่กระจายในดินและน้ำในพื้นที่น้ำจืด อันเป็นแหล่งเกษตรกรรม โดยเฉพาะแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศและของโลก ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและภาครัฐเป็นอันมาก จึงจำเป็นจะต้องควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นให้ได้อย่างทันท่วงที หากไม่เร่งดำเนินการ จะมีผลต่อการเพิ่มความรุนแรงแก่ภาวะความเค็มและแพร่กระจายในพื้นดินและพื้นที่ใกล้เคียงได้
      ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 43 วรรคสอง บัญญัติว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน” ดังนั้น การประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นการป้องกัน ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายจากการสะสมและแพร่กระจายของความเค็มที่เกิดขึ้นในพื้นที่น้ำจืด ซึ่งจะเป็นการป้องกัน และฟื้นฟูทรัพยากรดินและน้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามศักยภาพตามธรรมชาติ รวมทั้งลดข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มเกษตรกรในการใช้ที่ดินและน้ำ อย่างไรก็ตาม คำสั่งฯ ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปริมาณผลผลิตที่ลดลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

Viewing 1 reply thread

You must be logged in to reply to this topic.