1.สาระสำคัญของหัวข้อองค์ความรู้

   “กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติ ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมไว้ โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานเป็นพิเศษเฉพาะพื้นที่ เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2541 ปรับปรุงในปี พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2564 ตามลำดับ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ทำหน้าที่วางนโยบาย กำหนดพื้นที่ และจัดทำแผนแม่บท แนวทางการอนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ
   ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
     1) การกำหนดพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เป็น 4 บริเวณ ได้แก่ บริเวณที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน บริเวณที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณที่ 3 พื้นที่ฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ และบริเวณที่ 4 พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก
    2) การกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว 36 เมือง ใน 35 จังหวัด และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่ารายเมืองเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการในพื้นที่เมืองเก่า

ภาพแผนที่แสดงขอบเขตพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์

2. องค์ความรู้ที่ต้องใช้ในการทำงานให้สำเร็จ

   2.1 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า
        1) นโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์
        2) แนวทางการบริหารจัดการเมืองเก่า
            – การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์
            – การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน
            – การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น
            – การส่งเสริมคุณภาพชีวิต
            – การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ
            – การประหยัดพลังงานด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม
            – การดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ
     2.2 ด้านนโยบาย กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า
          1) ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580
          2) แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2564
          4) พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และแก้ไขเพิ่มเติม
          5) พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562
          6) พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
          7) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่อง มาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ และในบริเวณเมืองเก่าที่ได้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า

3. คำสำคัญ (Key Word) ขององค์ความรู้ 
    3.1 แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า
    3.2 มาตรการในการควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า

4. ดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI)
    มีกลไก และเครือข่ายที่สามารถบริหารจัดการพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ให้คงคุณค่าความสำคัญ รักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ และวิถีชีวิตของชุมชนไว้ได้

5. ขั้นตอนการปฏิบัติองค์ความรู้ที่สำคัญ
    5.1 รวบรวมข้อมูล สำรวจ วิเคราะห์ ประเมินคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมเพื่อกำหนดเขตพื้นที่เมืองเก่า
    5.2 จัดทำรายงานการศึกษาการกำหนดเขตพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการ และคณะรัฐมนตรี
    5.3 ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 และปรับปรุง พ.ศ. 2564
    5.4 ประสานขับเคลื่อนให้คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าดำเนินการตามแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า
    5.5 เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

6. วิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนโดยสังเขป

    6.1 รวบรวมข้อมูล สำรวจ วิเคราะห์ ประเมินคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมเพื่อกำหนดเขตพื้นที่เมืองเก่า
         1) ข้อมูลปฐมภูมิ ข้อมูลทุติยภูมิ และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาคสนาม ประกอบด้วย
             – ประวัติความเป็นมา และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ศึกษา
             – องค์ประกอบของเมืองเก่า ได้แก่ กำแพงเมือง คูเมือง แบบแผนโครงข่ายคมนาคมในเมือง บริเวณ/ย่านเก่าที่สำคัญของเมือง ที่หมายตาในบริเวณเมืองเก่า และธรรมชาติในเมืองเก่า เป็นต้น
             – สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมของแหล่งโบราณสถาน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่มีความสำคัญและมีคุณค่าในพื้นที่ศึกษา เป็นต้น
           2) วิเคราะห์และประเมินคุณค่าความสำคัญองค์ประกอบของเมือง โดยพิจารณาจากเกณฑ์คุณค่า ประกอบด้วย
                – คุณค่าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
                – คุณค่าด้านอายุและความเก่าแก่
                – คุณค่าด้านสภาพอาคาร สถานที่ และโบราณสถาน
                – คุณค่าด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
                – คุณค่าด้านองค์ประกอบเมืองและภาพลักษณ์ของเมือง (Image of City)
                – คุณค่าความสำคัญต่อสังคมและชุมชน ร่วมกับการสำรวจพื้นที่ โดยนำผลการประเมินคุณค่ามากำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และความสำคัญของพื้นที่ (Zones) เมืองเก่าในแต่ละเขต และความเข้มข้นของการอนุรักษ์ บูรณะฟื้นฟู และพัฒนา

   6.2 จัดทำรายงานการศึกษาการกำหนดเขตพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์แลพัฒนาเมืองเก่า เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการ และคณะรัฐมนตรี
          การจัดทำรายงานการศึกษาการกำหนดเขตพื้นที่เมืองเก่า เป็นขั้นตอนที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลสถานภาพของ “เมืองเก่า” เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงของพื้นที่เมืองเก่า และองค์ประกอบของเมืองเก่าว่ามีอะไรบ้าง มีสถานการณ์การอนุรักษ์และภาวะการถูกคุกคามเป็นอย่างไร รวมถึงการค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมประเภทต่าง ๆ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำร่างขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนรวมทั้งหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับในพื้นที่ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และธุรกิจ โดยผ่านการประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า ซึ่งจัดให้มีกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า อย่างน้อยเมืองละ 2 ครั้ง แล้วจึงนำร่างขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าที่ผ่านการมีส่วนร่วมเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่า พิจารณาให้ข้อเสนอแนะ และให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับ    

   6.3 ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 และปรับปรุง พ.ศ. 2564 
        เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าแล้ว จึงจัดทำประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เรื่อง ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ซึ่งจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของคำอธิบายรายละเอียดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และรูปแบบการจัดทำแผนที่แนบท้ายประกาศให้ถูกต้อง และเสนอประธานกรรมการพิจารณาลงนาม

    6.4 ประสานขับเคลื่อนให้คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าดำเนินการตามแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า
         การกำหนดเขตพื้นที่เมืองเก่า เพื่อประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า เป็นการดำเนินการบนพื้นฐานตามหลักวิชาการ ที่มีการอ้างถึงและการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เมืองเก่า เพื่อให้จังหวัดและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดทิศทางและพัฒนาเครื่องมือกลไกในการบริหารจัดการพื้นที่เมืองเก่าได้อย่างเหมาะสม และเกิดการบูรณาการงานร่วมกัน ดังนั้นการดำเนินงานภายหลังการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า มีดังนี้
         1) ประสานจังหวัด เพื่อรับทราบการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรัก์และพัฒนาเมืองเก่า รายเมือง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ เป็นอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นเลขานุการ (ยกเว้นเมืองเก่าน่าน วัฒนธรรมจังหวัดน่านเป็นเลขานุการ) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป
         2) ประสานจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า และขับเคลื่อนให้จังหวัดปฏิบัติตามกรอบแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เช่น
             – การจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะอนุกรรมการ
             – การกำหนดมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นในบริเวณเมืองเก่า เพื่อออกประกาศจังหวัด เรื่อง มาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคาร (หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมี) และโครงการพัฒนาและระบบสาธารณูปโภคของภาคเอกชนบนที่ดินของภาครัฐบาลฯ ในบริเวณเมืองเก่า ที่จะดำเนินการก่อสร้างภายในบริเวณเมืองเก่า ส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะอนุกรรมการฯ ผ่านทางสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดตั้งงบประมาณต่อไป
         3) การกำหนดมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาคเอกชนในบริเวณเมืองเก่า เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาคเอกชน
         4) การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทาง และมาตรการในการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า โดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่

  6.5 เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
        เพื่อให้คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รายเมือง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้รับความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าของตนเองได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่เมืองเก่า โดยการประชุมสัมมนาวิชาการ การอบรมและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีบทบาทและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในระดับพื้นที่ สามารถรับรู้และเข้าใจกระบวนการแนวทาง/มาตรการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม

7. ปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน และวิธีการแก้ไข
    7.1 ข้อจำกัดด้านงบประมาณ เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สามารถแก้ไขโดยหาช่องทางเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่กรงุรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ จากแหล่งทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนสิ่งแวดล้อม กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องจากกองทุนดังกล่าวสามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในกิจการที่สอดคล้องกับการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า
    7.2 ข้อจำกัดด้านบุคลากร บุคลากรทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานตามภารกิจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับแนวทาง มาตรการการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า สามารถแก้ไขโดยให้ส่วนกลางประสานให้ความรู้ให้กับคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ผู้แทนเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อขยายความรู้ความเข้าใจไปยังกลุ่มเป้าหมายที่จะดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาในรุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง

8. เทคนิคที่จะทำให้สามารถปฏิบัติงานนี้ได้ดี
    8.1 เทคนิคการสื่อสาร ถือเป็นหัวใจสำคัญของปฏิบัติงาน เนื่องจากงานอนุรักษ์และพัฒนา จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดังนั้น การพัฒนาทักษะการสื่อสารและประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ได้รับการยอมรับและนำมาสู่ความร่วมมือในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งสามารถขยายเครือข่ายเพื่อร่วมอนุรักษ์ได้
    8.2 เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่าในระดับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งกระตุ้น และสร้างความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้เกิดการขยายฐานความรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ

9. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (CK Expert)
    นางสาวสิริวรรณ สุโอฬาร ผู้อำนวยการกลุ่มงานอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

สามารถชมคลิปการสัมภาษณ์ได้ที่ : CK Expert สผ. กับกการพัฒนา และอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า