1. สาระสำคัญของหัวข้อองค์ความรู้

    พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ได้รับการประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43-45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อันเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญประการหนึ่งที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการควบคุมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด บนพื้นฐานของปรัชญาที่ว่าในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความรู้ ความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้น จึงมีเจตนารมณ์ให้พื้นที่อันมีคุณค่าคงอยู่ได้อย่างสมดุลตามธรรมชาติ และให้คงความสมบูรณ์ต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน

เป้าหมายของการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม        
     1. ป้องกันพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะตามธรรมชาติ หรือมีคุณค่าทางธรรมชาติ ศิลปกรรมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย พื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์ ที่ยังไม่มีกฎหมายในเรื่องของการอนุรักษ์เข้ามาคุ้มครองดูแล 
     2. ควบคุมและแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเข้าขั้นวิกฤตในพื้นที่ที่มีกฎหมายต่าง ๆ ควบคุมอยู่แล้วให้กลับคืนสู่สภาพเดิมภายในกำหนดระยะเวลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เป็นหลักสำคัญของการดำเนินการเพื่อประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีในทางปฏิบัติ เนื่องจากการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบางมาตรการจะเป็นการจำกัดสิทธิบางส่วนของประชาชน จึงทำให้เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกระทำหรือประกอบกิจการในพื้นที่ จึงต้องดำเนินการจนกว่าจะได้ข้อยุติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้แก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยในทุกขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม

ขั้นตอนการมีส่วนร่วมของการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

    ขั้นตอนเริ่มต้น : ร่วมพิจารณาเหตุแห่งความจำเป็นในการดำเนินการคุ้มครองหรือแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้กลไกการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม                                                   
    ขั้นตอนระหว่างดำเนินการ : ร่วมพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ และสอดคล้องกับเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้น                                               
    ขั้นตอนหลังจากที่มีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้วโดยกฎหมาย : ร่วมปฏิบัติตาม และกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ และร่วมประเมินผลสัมฤทธิ์ของการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเราดีขึ้น และไม่ได้เป็นอุปสรรคใด ๆ สำหรับการดำเนินกิจกรรม แต่เป็นการกำหนดกติกาของทางราชการให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดต่อไปในภายภาคหน้า

 

2. องค์ความรู้ที่ต้องใช้ในการทำงานเรื่องนั้นให้สำเร็จ

  1. องค์ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการประมง กฎหมายว่าด้วยโรงงานอุตสาหกรรม กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน เนื่องจากพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรการในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เกี่ยวเนื่องกับการวาง และจัดทำผังเมือง การควบคุมอาคาร รวมถึงมาตรการห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่นั้นจากลักษณะตามธรรมชาติหรือเกิดผลกระทบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
  2. องค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นที่เปราะบาง โครงการบางประเภทหรือบางขนาดอาจก่อให้เกิดหรือเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ โดยจะมีการกำหนดให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจมีโครงการหรือกิจการเพิ่มเติมจากประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่สมควรจัดทำไว้ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
  3. องค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ และเชิงพื้นที่ ในการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็นต้องพิจารณาที่ตั้ง ลักษณะภูมิประเทศ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีคุณค่า และสมควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อนำมาประกอบการกำหนดขอบเขตพื้นที่ เพื่อนำไปสู่มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ
  4. องค์ความรู้ด้านกระบวนการทางสังคม โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกรอบในการดำเนินงาน เนื่องจากการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจะเป็นการจำกัดสิทธิบางส่วนของประชาชนจึงทำให้เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกระทำหรือประกอบกิจการในพื้นที่ ดังนั้น ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม                                                                                 
  5. องค์ความรู้ด้านการประเมินผลสัมฤทธิ์ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการตรากฎหมาย โดยให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายเป็นผู้รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฉบับนั้น เมื่อผลการประเมินพบว่า กฎหมายใดมิได้ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายนั้น หรือไม่คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐหรือประชาชนหรือมีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างร้ายแรงให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิก ปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติม

3. คำสำคัญ (Key Word) ขององค์ความรู้

  1. กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
  2. กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
  3. กฎหมายว่าด้วยการประมง
  4. กฎหมายว่าด้วยโรงงานอุตสาหกรรม
  5. กฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน
  6. องค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์
  7. กระบวนการทางสังคม
  8. การประเมินผลสัมฤทธิ์

4. ดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI)

    จำนวนพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการติดตามประเมินผล

5. ขั้นตอนการปฏิบัติองค์ความรู้ที่สำคัญ

  1. การวางแผนการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  2. การกำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  3. การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  4. การประชุมคณะกรรมการและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง                                                 
  5. จัดทำเอกสารและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)                                                     
  6. การประชุมชี้แจงการใช้บังคับกฎหมาย                                                                         
  7. การประเมินผลสัมฤทธิ์   

6. วิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนโดยสังเขป (ขยายความรายละเอียดของขั้นตอนแต่ละขั้นตอนในข้อ 5)

  1. การวางแผนการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    1) พื้นที่ใหม่ และการปรับปรุงประกาศฯ ในพื้นที่เดิม หรือการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศฯ               
        – การกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองฯ หรือการปรับปรุงเขตพื้นที่และมาตรการในกรณีที่เป็นพื้นที่เดิม
        – การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง         
    2) การประชุมชี้แจงการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม             
    3) การประเมินผลสัมฤทธิ์ 
                                                                    
  2. การกำหนดพื้นที่เป้าหมายเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    1) จังหวัด/อปท. หรือส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล เพื่อกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    2) สผ. พิจารณาความสำคัญและสภาพปัญหาของพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม    
  1. การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    1) จัดทำเอกสารหลักการและความสำคัญของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
    2) จัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานท้องถิ่น จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน                                                                               
    3) สรุป วิเคราะห์ผลการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และนำความคิดเห็นที่ได้ไปยกร่างเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม                                                                                             
    4) รับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานท้องถิ่น จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อร่างเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม                                                                
    5) ปรับปรุงร่างเขตพื้นที่และมาตรการฯ เพื่อยกร่างกฎกระทรวง/ประกาศกระทรวงฯ และจัดทำวาระการประชุมเพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณา

  2. การประชุมคณะกรรมการและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง                                                            
        1) จัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมต่อร่างกฎกระทรวง/ประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม   
        2) จัดทำวาระการประชุมและนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ   
  1. จัดทำเอกสารและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)                                                                 
    1) ครม. มีมติให้ส่งร่างกฎกระทรวง/ประกาศกระทรวงฯ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาหรือคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย              
    2) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาหรือคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือถึง สผ. เพื่อเชิญเข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดมาตรการในร่างกฎกระทรวง/ประกาศกระทรวงฯ    3) สผ. เข้าร่วมการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงของร่างกฎกระทรวง/ประกาศกระทรวงฯ ในขั้นตอนการตรวจร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและ  ร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี                                                                                   
    4) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือให้ สผ. ยืนยันร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจจากคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี                              
    5) สผ. ส่งหนังสือยืนยันความถูกต้องของร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือหรือคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี    6) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างกฎกระทรวง/ประกาศกระทรวงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาลงนาม ตลอดจน วัน เดือน และปีของร่างดังกล่าว
    7) กระทรวงฯ ส่งเรื่องให้ สผ. จัดเตรียมกฎกระทรวง/ประกาศกระทรวงฯ เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนาม และจัดทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
    8) สผ. ส่งหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
             
  2. การประชุมชี้แจงการใช้บังคับกฎหมาย                             
    สผ. จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ทราบโดยทั่วกัน

  3. การประเมินผลสัมฤทธิ์                                                                                              
    1) สำรวจ เก็บข้อมูลและประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    2) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการใช้บังคับมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    3) สรุปผลการประเมินผลสัมฤทธิ์
    4) จัดทำวาระนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
    5) ปรับปรุงร่างกฎกระทรวง/ประกาศกระทรวงฯ ตามขั้นตอนทางกฎหมาย

7. ปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน และวิธีการแก้ไข

  1. การคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ประกอบการ หรือนักพัฒนาพื้นที่ อาจทำให้การออกกฎหมายเกิดความล่าช้า
  2. ขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายต้องใช้ระยะเวลา จึงไม่สามารถเร่งรัดเวลาการพิจารณาได้

8. เทคนิคที่จะทำให้สามารถปฏิบัติงานนี้ได้ดี

  1. การจัดทำฐานข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพิจารณาและบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  2. ควรส่งเสริมให้มีมาตรการด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการติดตามเฝ้าระวังให้ได้ผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง
  3. ควรสร้างความรู้ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ทุกภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
  4. ควรเพิ่มการจัดประชุมชื้แจงให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้รับทราบ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

9. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (CK Expert)

   นายวีรนิต  ฐานสุพร ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม กองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ

สามารถชมคลิปการสัมภาษณ์ได้ที่ : CK Expert สผ. กับการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม