การเข้าร่วมการประชุม COP 26 และการดำเนินการตามผลการประชุม – เว็บไซต์การจัดการองค์ความรู้ Knowledge Management

๑. สาระสำคัญของหัวข้อองค์ความรู้

          ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๘๐ โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้น
ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ผลักดันให้นานาประเทศหันมาสนใจและตระหนักถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมา จึงเกิดการประชุมระดับนานาชาติขึ้นเพื่อหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยได้มีการลงนามรับรองกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๗ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน ๑๙๖ ประเทศ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๗ ส่งผลให้กรอบอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๘ และต่อมาที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ได้รับรองพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ ในฐานะภาคีสมาชิกในกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่ไม่มีพันธกรณีจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง
แต่สามารถพิจารณาดําเนินการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามความสมัครใจ นอกจากนั้น ที่ประชุมกรอบอนุสัญญาฯ
ได้รับรองความตกลงปารีสเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน ๒/๑.๕ องศาเซลเซียส เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีความตกลงปารีสเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙

           การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการประชุมประจำปี เพื่อเจรจารับรองข้อตัดสินใจสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทั้งในประเด็นภายใต้พิธีสารโตเกียว ประเด็นด้านเทคนิค ด้านการดำเนินงาน และการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส โดยการประชุมรัฐภาคีฯ ประกอบด้วยการประชุมคู่ขนาน ๕ การประชุมหลัก ได้แก่

           ๑) การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ (The Conference of the Parties to the UNFCCC)

           ๒) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต (The Conference of the Parties serving as the Meeting of the Parties to the Kyoto Protocol)

           ๓) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส (The Conference of the Parties serving as the Meeting of the Parties to the Paris Agreement)

           ๔) การประชุมองค์กรย่อยให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์(The session of the Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice: SBSTA)

           ๕) การประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงาน (The session of the Subsidiary Body for Implementation: SBI)

                การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖
(COP 26) จัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑ – ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงของในการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุม COP 26 เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ในการพลิกโฉมประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC เป็นร้อยละ ๔๐ ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อย
ก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐

๒. องค์ความรู้ที่ต้องใช้ในการทำงานเรื่องนั้นให้สำเร็จ

           ๒.๑ องค์ความรู้เกี่ยวกับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

           ๒.๒ องค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและระดับนานาชาติ

           ๒.๓ องค์ความรู้ด้านท่าทีการเจรจาของไทยและประเทศภาคีอื่น

           ๒.๔ องค์ความรู้ด้านพิธีการสำหรับการเข้าร่วมประชุมภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติและการประชุมระหว่างประเทศ

           ๒.๕ องค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับการเดินทางเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศ                                

๓. คำสำคัญ (Key Word) ขององค์ความรู้

          ๓.๑ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สมัยที่ ๒๖ (COP 26)

           ๓.๒ การประชุมระหว่างประเทศ  

           ๓.๓ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

           ๓.๔ กรอบอนุสัญญาฯ    

           ๓.๕ ท่าทีเจรจาของไทย             

๔. ดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI)

การนำเสนอถ้อยแถลงของประเทศไทยในการประชุม COP 26 เพื่อสื่อสารท่าทีและความก้าวหน้า
ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

๕. ขั้นตอนการปฏิบัติองค์ความรู้ที่สำคัญ

          ๕.๑ การเตรียมการและเข้าร่วมการประชุม (Logistic)

           ๕.๒ การจัดทำองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทย

           ๕.๓ การจัดทำกรอบท่าทีเจรจาของไทย

           ๕.๔ กระบวนการนำเสนอองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยและกรอบท่าทีเจรจาของไทย
ต่อคณะรัฐมนตรี

           ๕.๕ การจัดทำถ้อยแถลงของประเทศไทย

           ๕.๖ การจัดทำสรุปผลการประชุมและเผยแพร่ผลการประชุม      

๖. วิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนโดยสังเขป (ขยายความรายละเอียดของขั้นตอนแต่ละขั้นตอนในข้อ ๕)

           ๖.๑ การเตรียมการและเข้าร่วมการประชุม (Logistic)

ศึกษาข้อมูลการประชุมจากสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ และประสานกระทรวงการต่างประเทศ เพื่ออนุเคราะห์ข้อมูลอำนวยความสะดวก ประสานตรวจสอบเส้นทาง สำรอง/ออกบัตรโดยสาร ห้องพักและบริการอื่นๆ รวมถึงการขออนุมัติในการเดินทางเข้าร่วมการประชุม การดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศเกี่ยวกับการเดินทางเข้าร่วมการประชุม เช่น หนังสือนำตรวจลงตรา (VISA) หนังสือเดินทางราชการ (Passport) หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Vaccine Passport) และประสานขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือสายการบิน และจัดเตรียมเอกสารเพื่อส่งหลักฐานค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามกำหนดเวลา เช่น ค่าห้องพัก ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าเช่าห้องสำนักงานผู้แทนไทย

           ๖.๒ การจัดทำองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุม

ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม COP 26 และจัดทำองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุม ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

           ๖.๓ การจัดทำกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม

จัดทำท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP 26 โดยศึกษาประเด็นที่จะมีการเจรจาท่าทีไทยในการประชุมที่ผ่านมา และท่าทีประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาที่สำคัญ โดยกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP 26 มีเนื้อหาครอบคลุมหลักการภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เช่น ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ เน้นย้ำให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้การจัดทำและการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) อยู่ภายใต้หลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ส่งเสริมบทบาทของภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการกักเก็บคาร์บอนและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องการให้มีการยกระดับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และส่งเสริมศักยภาพในการปรับตัวฯ ของประเทศกำลังพัฒนา ให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำและยกระดับการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวอย่างเพียงพอ สมดุล และต่อเนื่อง สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีสโดยเชื่อมโยงกับกลไกทางการเงิน ให้มีการยกระดับศักยภาพของบุคลากร สถาบันและระบบในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน เป็นต้น

๖.๔ กระบวนการนำเสนอองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยและกรอบท่าทีเจรจาของไทยต่อคณะรัฐมนตรี

                ๑) สผ. นำเสนอ (ร่าง) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทย และ (ร่าง) กรอบท่าทีเจรจาของไทยต่อคณะทำงานเจรจาสำหรับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับ

     ๒) นำเสนอ (ร่าง) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทย เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

     ๓) นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยและเห็นชอบกรอบท่าทีเจรจาของไทย

           ๖.๕ การจัดทำถ้อยแถลงของประเทศไทย

สผ. จัดทำร่างถ้อยแถลงของประเทศไทย โดยศึกษาประเด็นที่มีความสำคัญในกรอบระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องถ่อยแถลงขอไทย ถ้อยแถลงของผู้นำสำคัญในปีที่ผ่านมา และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญของไทยในปีที่ผ่านมา และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเพื่อใช้กล่าวในการประชุมสุดยอด (World Leaders Summit) ในห้วงการประชุม COP 26 ซึ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อประชาคมโลก โดยสาระของถ้อยแถลงเน้นแสดงจุดยืนของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายภายในประเทศ รวมถึงการมุ่งบรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ และยกระดับ NDC เป็นร้อยละ ๔๐ ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ

           ๖.๖ การจัดทำสรุปผลการประชุมและเผยแพร่ผลการประชุม

                 ๑)  สผ. รวบรวมผลการประชุมจากคณะผู้แทนไทยและจัดทำเป็นสรุปผลการประชุม

                 ๒) นำเสนอสรุปผลการประชุมต่อคณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการฯ
เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับ

                ๓) นำเสนอสรุปผลการประชุมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและมอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

               ๔) สผ. จัดการประชุมสัมมนาเผยแพร่สรุปผลการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในวงกว้างให้ทุกภาคส่วน
ทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ประชาชน และสื่อมวลชน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทย

๗. ปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน และวิธีการแก้ไข

           ๗.๑  ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ สผ. ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายการเดินทางไปราชการต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณงบดำเนินงาน สผ. จากสำนักงบประมาณ ซึ่งจึงต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบการขอโอนเปลี่ยนแปลงให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่จำกัด

           ๗.๒  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดการเดินทางเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศไทย ประเทศสหราชอาณาจักร และประเทศที่ต้องแวะพักระหว่างเดินทาง

           ๗.๓ เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 ทำให้บางหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามประเด็นไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจึงไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมได้ สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศจึงต้องมอบหมายเจ้าหน้าที่ สผ. ให้รับผิดชอบในการติดตามประเด็น
การประชุมดังกล่าวแทน

           ๗.๔  มีการจำกัดการเข้าร่วมการประชุมของผู้แทนในแต่ละห้องประชุม ทำให้การติดตามการประชุม
มีข้อจำกัด

๘. เทคนิคที่จะทำให้สามารถปฏิบัติงานนี้ได้ดี

           ๘.๑  มีการประสานกับกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศเจ้าภาพ
ในการเตรียมการอย่างใกล้ชิด                 

           ๘.๒  มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่จะมีการหารือในที่ประชุมอย่างถ่องแท้ รวมถึงท่าทีของประเทศอื่น ๆ
และการการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย

           ๘.๓  มีความเข้าใจและทักษะในการจัดทำถ้อยแถลงที่มีเนื้อหาครอบคลุมและภาษาที่เหมาะสม

           ๘.๔  มีการประสานงานกับผู้แทนไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบความคืบหน้าของการประชุม
เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการเจรจาได้อย่างทันท่วงที

๙. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (CK Expert)

          นายกลย์วัฒน์ สาขากร   นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ

          กลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา กองประสานงานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
          สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม