๑. สาระสำคัญของหัวข้อองค์ความรู้

          ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๘๐ โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้น
ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ผลักดันให้นานาประเทศหันมาสนใจและตระหนักถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมา จึงเกิดการประชุมระดับนานาชาติขึ้นเพื่อหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยได้มีการลงนามรับรองกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๗ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน ๑๙๖ ประเทศ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๗ ส่งผลให้กรอบอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๘ และต่อมาที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ได้รับรองพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ ในฐานะภาคีสมาชิกในกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่ไม่มีพันธกรณีจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่สามารถพิจารณาดําเนินการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามความสมัครใจ นอกจากนั้น ที่ประชุมกรอบอนุสัญญาฯ ได้รับรองความตกลงปารีสเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน ๒/๑.๕ องศาเซลเซียส เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีความตกลงปารีสเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙

           การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการประชุมประจำปี เพื่อเจรจารับรองข้อตัดสินใจสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทั้งในประเด็นภายใต้พิธีสารโตเกียว ประเด็นด้านเทคนิค
ด้านการดำเนินงาน และการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส โดยการประชุมรัฐภาคีฯ ประกอบด้วยการประชุมคู่ขนาน ๕ การประชุมหลัก ได้แก่

           ๑) การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ (The Conference of the Parties to the UNFCCC)

           ๒) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต (The Conference of the Parties serving as the Meeting of the Parties to the Kyoto Protocol)

           ๓) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส (The Conference of the Parties serving as the Meeting of the Parties to the Paris Agreement)

           ๔) การประชุมองค์กรย่อยให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและวิทยาศาสตร์(The session of the Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice: SBSTA)

           ๕) การประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงาน (The session of the Subsidiary Body for Implementation: SBI)

                การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (COP 26) จัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑ – ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงของในการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุม COP 26 เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ในการพลิกโฉมประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC เป็นร้อยละ ๔๐ ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐