๕. ขั้นตอนการปฏิบัติองค์ความรู้ที่สำคัญ

          ๕.๑ การเตรียมการและเข้าร่วมการประชุม (Logistic)

           ๕.๒ การจัดทำองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทย

           ๕.๓ การจัดทำกรอบท่าทีเจรจาของไทย

           ๕.๔ กระบวนการนำเสนอองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยและกรอบท่าทีเจรจาของไทยต่อคณะรัฐมนตรี

           ๕.๕ การจัดทำถ้อยแถลงของประเทศไทย

           ๕.๖ การจัดทำสรุปผลการประชุมและเผยแพร่ผลการประชุม      

๖. วิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนโดยสังเขป 

           ๖.๑ การเตรียมการและเข้าร่วมการประชุม (Logistic)

           ศึกษาข้อมูลการประชุมจากสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ และประสานกระทรวง
การต่างประเทศ เพื่ออนุเคราะห์ข้อมูลอำนวยความสะดวก ประสานตรวจสอบเส้นทาง สำรอง/ออกบัตรโดยสาร ห้องพักและบริการอื่นๆ รวมถึงการขออนุมัติในการเดินทางเข้าร่วมการประชุม การดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศเกี่ยวกับการเดินทางเข้าร่วมการประชุม เช่น หนังสือนำตรวจลงตรา (VISA) หนังสือเดินทางราชการ (Passport) หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Vaccine Passport) และประสานขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือสายการบิน และจัดเตรียมเอกสารเพื่อส่งหลักฐานค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามกำหนดเวลา เช่น ค่าห้องพัก ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าเช่าห้องสำนักงานผู้แทนไทย

           ๖.๒ การจัดทำองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุม

            ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม COP 26 และจัดทำองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุม ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

           ๖.๓ การจัดทำกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม

            จัดทำท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP 26 โดยศึกษาประเด็นที่จะมีการเจรจาท่าทีไทยในการประชุมที่ผ่านมา และท่าทีประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาที่สำคัญ โดยกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุม COP 26 มีเนื้อหาครอบคลุมหลักการภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เช่น ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ เน้นย้ำให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้การจัดทำและการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) อยู่ภายใต้หลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ส่งเสริมบทบาทของภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการกักเก็บคาร์บอนและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องการให้มีการยกระดับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และส่งเสริมศักยภาพในการปรับตัวฯ ของประเทศกำลังพัฒนา ให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำและยกระดับการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวอย่างเพียงพอ สมดุล และต่อเนื่องสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีสโดยเชื่อมโยงกับกลไกทางการเงิน ให้มีการยกระดับศักยภาพของบุคลากร สถาบันและระบบในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน เป็นต้น

              ๖.๔ กระบวนการนำเสนอองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยและกรอบท่าทีเจรจาของไทยต่อคณะรัฐมนตรี

                ๑) สผ. นำเสนอ (ร่าง) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทย และ (ร่าง) กรอบท่าทีเจรจาของไทยต่อคณะทำงานเจรจาสำหรับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับ

                ๒) นำเสนอ (ร่าง) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทย เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

                ๓) นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยและเห็นชอบกรอบท่าทีเจรจาของไทย

           ๖.๕ การจัดทำถ้อยแถลงของประเทศไทย

            สผ. จัดทำร่างถ้อยแถลงของประเทศไทย โดยศึกษาประเด็นที่มีความสำคัญในกรอบระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องถ่อยแถลงขอไทย ถ้อยแถลงของผู้นำสำคัญในปีที่ผ่านมา และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญของไทยในปีที่ผ่านมา และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเพื่อใช้กล่าวในการประชุมสุดยอด (World Leaders Summit) ในห้วงการประชุม COP 26 ซึ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อประชาคมโลก โดยสาระของถ้อยแถลงเน้นแสดงจุดยืนของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายภายในประเทศ รวมถึงการมุ่งบรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ และยกระดับ NDC เป็นร้อยละ ๔๐ ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ

           ๖.๖ การจัดทำสรุปผลการประชุมและเผยแพร่ผลการประชุม

                 ๑)  สผ. รวบรวมผลการประชุมจากคณะผู้แทนไทยและจัดทำเป็นสรุปผลการประชุม

                ๒) นำเสนอสรุปผลการประชุมต่อคณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับ

                ๓) นำเสนอสรุปผลการประชุมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและมอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

                ๔) สผ. จัดการประชุมสัมมนาเผยแพร่สรุปผลการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในวงกว้างให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ประชาชน และสื่อมวลชน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทย