พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 และให้ใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2561

โดย พรบ. ฉบับใหม่ ได้มีการปรับปรุงในส่วนของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ซึ่งได้เปลี่ยนคำนิยามใหม่เป็น “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม และตามรัฐธรรมนุญฉบับปี 2560 รวมทั้งได้มีการบัญญัติข้อระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ ดังนี้

  1. สผ. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อาจมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ ได้แก่ การตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การให้ความเห็นเบื้องต้น ยกเว้น กรณีโครงการที่อาจมีผลกระทบฯ อย่างรุนแรง (โครงการที่ต้องทำ EHIA) หรือเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  2. กรณีโครงการของรัฐที่เป็นโครงการด้านคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในระหว่างการรอผลการพิจารณารายงานฯ อาจเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้
  3. ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานฯ (คชก.) ไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายรอการสั่งอนุญาตแก่ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตไว้ก่อน จนกว่าผู้นั้นจะได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำรายงานใหม่ตาม คชก. มีความเห็นภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ มิฉะนั้น จะถือว่าจบกระบวนการ
  4.  หากดำเนินการก่อสร้างหรือดำเนินการก่อนที่รายงานฯ จะได้รับความเห็นชอบต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 แสนบาท หากยังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ กรณีโครงการที่อาจมีผลกระทบฯ อย่างรุนแรง ต้องระวางโทษปรับหนักกว่าโครงการ EIA กึ่งหนึ่ง

  5. หากไม่ส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการฯ (EIA Monitoring Report) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท

  6. รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบ สามารถนำไปใช้เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือประกอบการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายได้ เป็นระยะเวลา 5 ปี
  7. กรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ตามระเบียบหรือกฎหมายอื่นใดไว้แล้ว การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ดังกล่าวด้วย

       

 

    แสดงความคิดเห็น

    กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น