พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

 

เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ได้รับการประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมตรา ๔๓ – ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อเป็นกลไก ควบคุม และยับยั้งการดำเนินการใด ๆ อันเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ควบคู่กับการดำเนินการด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป

เจตนารมณ์ของการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

                        เพื่อป้องกัน สงวน บำรุงรักษา และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม แหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีคุณค่า ให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลตามธรรมชาติ และให้ความสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

ประโยชน์จากการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 

  • ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการอนุรักษ์ และคุ้มครองให้ดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลตามระบบนิเวศธรรมชาติ
  • ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไข ควบคุม และฟื้นฟู
  • ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน ดูแลรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

 

ส่วนประกอบสำคัญของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

  • เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม คือ เขตพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวลด้อม มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน ครอบคลุมทรัพยากรที่ต้องรักษา
  • มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม คือ มาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อนำมาใช้คุ้มครองและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกรอบในการกำหนดตามกฎหมาย เช่น

กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน

การห้ามกระทำใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

กำหนดประเภท และขนาดโครงการ

กำหนดขอบเขตหน้าที่ ความรับผิดชอบของส่วนราชการ

กำหนดมาตรการตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้น

 

ประเภทของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

  • พื้นที่ที่เข้าข่ายตามมาตรา ๔๓ โดยออกเป็นกฎกระทรวง ได้แก่ พื้นที่ที่เป็นต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติแตกต่างจากพื้นที่อื่น หรืออาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ง่าย หรือพื้นที่นั่นยังมิได้ถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์

 

  • พื้นที่ที่เข้าข่ายตามมาตรา ๔๕ โดยออกเป็นประกาศกระทรวง ได้แก่ พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตผังเมืองเฉพาะ เขตควบคุมอาคาร เขตนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตควบคุมมลพิษ ที่มีสภาพปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต ต้องรีบแก้ไขโดยทันที และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

 

หลักเกณฑ์การประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

  • รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ความสำคัญและสภาพปัญหาของพื้นที่
  • กำหนดขอบเขตและมาตรการในพื้นที่
  • รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำร่างกฎกระทรวงหรือร่างประกาศกระทรวง

ขั้นตอนของกฎหมาย

  • ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  • ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี
  • ประกาศในราชกิจกานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้

การติดตามประเมินผล

  • ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  • การติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์

การปรับปรุงกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวง

  • จัดทำร่างกฎกระทรวงหรือร่างประกาศกระทรวง
  • นำเสนอร่างกฎกระทรวงหรือร่างประกาศกระทรวง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ได้ประกาศไปแล้ว

ป่าดูนลำพัน จังหวัดมหาสารคาม

พื้นที่บางกะเจ้า อำเภอพระประแดง
จังหวัดสมุทรปราการ

พื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ
จังหวัดชลบุรี

พื้นที่จังหวัดภูเก็ต

พื้นที่อำเภอเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พื้นที่แนวชายฝั่งทะเล จังหวัดกระบี่

พื้นที่แนวชายฝั่งทะเล จังหวัดพังงา

พื้นที่แนวชายฝั่งทะเล จังหวัดเพชรบุรี
และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พื้นที่ถนนสายต้นยางนา จังหวัดเชียงใหม่
และจังหวัดลำพูน

 

 

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๙๙ บุกรุก ทำลาย ก่อมลพิษในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม “จำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๑๐๐ ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตราที่กำหนด “จำคุกไม่เกิน ๑ ปี ปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๑๐๑/๑ ก่อสร้างหรือดำเนินโครงการหรือกิจการก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับความเห็นชอบ “ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”

มาตรา ๑๐๑/๒ ไม่นำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการ ที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม “ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท” เช่นกัน

มาตรา ๑๑๐/๒ ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการเปรียบเทียบภายใน ๗ วัน

 

การกำกับ ดูแล และติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครอง
สิ่งแวดล้อม

ระดับนโยบาย

  • คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
  • คณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ระดับพื้นที่

  • คณะกรรมการำกับดูแล และติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  • คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 


Link วิดีโอ การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

https://youtu.be/PozCawYuq5o

 

 

 

    1. pongsatorn

      22 January, 2021

      สุดยอดเลยครับ สวยมากๆ

    แสดงความคิดเห็น

    กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น