รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม  พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย

1. บทสรุปผู้บริหาร ซึ่งสรุปสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกและระดับภูมิภาค การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 11 สาขา ประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว

2. บทนำ นำเสนอการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยพบว่า GDP ของประเทศขยายตัวลดลง การลงทุนจากต่างประเทศลดลง การนำเข้า-ส่งออกลดลง แต่ยังได้ดุลการค้า นักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนลดลง และมีการว่างเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาข้างต้น อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยมีทิศทางการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อนุสัญญาและข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ มาตรการด้านการเงิน การคลัง การจัดสรรงบประมาณ

3. สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขา จำนวน 11 สาขา ได้แก่ (1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน พบว่า การนำเข้าวัตุอันตรายทางการเกษตรลดลง พื้นที่เพาะปลูกเกษตรอิทรีย์เพิ่มขึ้น (2) ทรัพยากรแร่ พบว่า ปริมาณการผลิต การใช้ และการส่งออกแร่ลดลง ยกเว้นการนำเข้าแร่เพิ่มขึ้น มูลค่าการผลิต การใช้ การนำเข้า และการส่งออกแร่ลดลง  (3) พลังงาน พบว่า การใช้พลังงานลดลง ประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น (4) ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พบว่า พื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างคงที่ จำนวนจุดความร้อนสะสม (Hotspot) ลดลง (5) ทรัพยากรน้ำ พบว่า ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น (6) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ทรัพยากรประมงมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น เต่าทะเลวางไข่เพิ่มขึ้น (7) ความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่า มีการสำรวจพบชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ชนิดใหม่ของโลก (8) สถานการณ์มลพิษ พบว่า ขยะพลาสติก ของเสียอันตราย และมูลฝอยติดเชื้อ เพิ่มขึ้น (9) สิ่งแวดล้อมชุมชน พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีชุมชนแออัดมีแนวโน้มลดลง และอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น  (10) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม พบว่า สถานภาพแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการบรรจุเป็นแหล่งมรดกโลก (11) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัต พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติ

4. ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ (1) การนำขยะไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเทศบาลตำบลบ้านคลอง จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่กรณีศึกษา ที่มีการคัดแยกขยะทั่วไปจากครัวเรือน แล้วรวบรวมและเก็บขน เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพเป็นขยะเชื้อเพลิง ที่บริษัทวงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า บริษัทโคลเวอร์ พิจิตร จำกัด และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้เทศบาลฯ มีการจัดการขยะที่ดีและเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่นๆ  (2) การบริหารจัดการน้ำ โดยบ้านธารมะยม อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่กรณีศึกษา ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูง เคยประสบปัญหาน้ำแล้ง จากพื้นที่ป่าถูกทำลาย เนื่องจากไฟไหม้ป่าเป็นประจำ ทำให้ขาดแคลนน้ำ ชุมชนจึงได้รวมตัวกันฟื้นฟูป่าไม้ โดยการสร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกต้นไม้ ทำแนวกันไฟ และร่วมกันดับไฟป่า ทำให้ป่าไม้มีสภาพสมบูรณ์ขึ้น ชุมชนมีแหล่งน้ำ เพื่อใช้อุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ชุมชนได้จัดเก็บรายได้จากการใช้น้ำประปาหมู่บ้าน เพื่อนำมาพัฒนาชุมชน ทำให้ชุมชมเกิดความเข้มแข็ง และ (3) การจัดการมูลฝอยติดเชื้อจากโรคโควิด 19 โดยเทศบาลเมืองศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่กรณีศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ และเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เทศบาลได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขในพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค สร้างความร่วมมือกับประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อจากโรคโควิด-19 และจัดการมูลฝอยติดเชื้อจากโรคโควิด-19 ที่ถูกหลักสุขาภิบาลและมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดปัญหาการจัดการมูลฝอยติดเชื้อจากโรคโควิด-19 ในพื้นที่เป็นอย่างดี

5. บทสรุป นำเสนอการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ได้แก่ แนวโน้มในระยะสั้น อาทิ สาขาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พื้นที่ป่าไม้มีโอกาสเพิ่มขึ้น จากการส่งเสริมชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาป่าไม้ รวมทั้งการปลูกป่าชุมชน และ แนวโน้มในระยะยาว อาทิ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (Economic Component) ภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น การค้าระหว่างประเทศขยายตัว มีการนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในการผลิต เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และมีการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกและขยะทะเล การจัดการมูลฝอยติดเชื้อจากโรคโควิด 19 และการคุ้มครองพื้นที่ที่มีความสำคัญหรือมีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ระยะยาว กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้ทรัพยากรให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

    แสดงความคิดเห็น

    กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น