หลักการและเหตุผล

          กองทุนสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนนุเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนและชุมชน และด้านการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรชุมชนและเครือข่าย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานบริหารและจัดการกองทุนสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการถอดบทเรียนหรือองค์ความรู้จากโครงการของสถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม และประสบผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานทุกภาคส่วน และประชาชนทั่วไป ได้รับทราบ และมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญ รวมทั้งเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นตนเอง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

 

แนวคิดในการดำเนินโครงการ

          ในการดำเนินโครงการจะต้องอาศัยแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการถอดบทเรียน มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้

          ๑) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะนำมาใช้ในการวิเคราะห์กระบวนการดำเนินงานของโครงการ ที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๒) แนวคิดการถอดบทเรียน มาใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดองค์ความรู้จากผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ ทั้งในส่วนที่ประสบความสำเร็จและบทเรียนจากการดำเนินงาน โดยใช้ทั้งวิธีการบันทึก การเล่าเรื่องหรือพูดคุย การจัดเวทีการนำเสนอแลกเปลี่ยน รวมถึงการถอดบทเรียนจากวิธีปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ

๓) แนวคิดการจัดการความรู้ จะให้ความสำคัญต่อการสกัดความรู้ที่มีอยู่ออกมาเป็นบทเรียน/ความรู้

ในรูปแบบชุดความรู้ที่เป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงขั้นตอนของการจัดการความรู้ทั้งกระบวนการ เพื่อนำไปสู่การนำความรู้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการต่อยอดความรู้เดิม

          ๔) แนวคิดการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม จะให้ความสำคัญต่อการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมต่อชุมชนทั้ง ๓ ระดับ คือ ระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับชุมชน เพื่อค้นหาองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการ รวมทั้งการสื่อสารเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ

          ๕) แนวคิดการติดตามและประเมินผล มาใช้ในการค้นหาผลสำเร็จหรือปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของโครงการ รวมถึงผู้รับบริการที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ

 

 

ขั้นตอนการดำเนินการ

          ๑. ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมากำหนดกรอบแนวคิด วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินการโครงการ ดังนี้

๑) ศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแนวทางการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาในภาพรวม

๒) ศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลนโยบายและแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้อง แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม แผนการจัดการมลพิษ แผนแม่บทกองทุนสิ่งแวดล้อม กรอบทิศทางการสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมตามมาตรา ๒๓(๔) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ รวมทั้งนโยบายการบริหารงานกองทุนสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม และอนุกรรมการฯ

                   ๓) ศึกษา ทบทวนและวิเคราะห์ผลสำเร็จ ปัญหา อุปสรรค ในการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม  ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาในภาพรวม เพื่อค้นหาจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรค

          ๒. ดำเนินการคัดเลือกกรณีศึกษาจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ 

๑) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม

ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างน้อย ๒๐ เรื่อง ดังนี้

๑.๑) พิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม

ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วไม่เกิน ๕ ปี ซึ่งมีความพร้อมของข้อมูลและองค์ความรู้ในพื้นที่ และสามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อต่อยอดในระดับการถอดองค์ความรู้/บทเรียนและผลสำเร็จ

                             ๑.๒) เป็นพื้นที่กรณีศึกษาที่มีศักยภาพและรูปธรรมความสำเร็จ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมประเด็นและเป็นตัวแทนขององค์ความรู้/บทเรียนและผลสำเร็จ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างอันนำไปขยายผลในอนาคต

                             ๑.๓) พื้นที่/กรณีศึกษาที่สะท้อนความเชื่อมโยงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกระจายอยู่ตามภูมินิเวศต่างๆ

                             ๑.๔) มีองค์ความรู้/บทเรียนและผลสำเร็จ ที่สามารถนำไปปรับใช้เป็นต้นแบบในการทำงานที่ดี (Best practice) มีความสอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายในการพัฒนาประเทศ ในการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน

                             ๑.๕) เจ้าของโครงการหรือผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่มีความยินดีและพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการประสานสืบค้น รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ตามแผนงาน

๒) ศึกษา ทบทวนเอกสารข้อมูลโครงการที่ได้คัดเลือกมาจากเกณฑ์ข้างต้นรวม ๒๓ โครงการ ทั้งในประเด็นเป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลความต่อเนื่องยั่งยืนของโครงการ สามารถสรุปประเด็นองค์ความรู้ บทเรียนและความสำเร็จเบื้องต้นได้ทั้งหมด ๒๑ เรื่อง ซึ่งมีความหลากหลายของประเด็นตามภูมินิเวศทั้งพื้นที่  ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และทะเลชายฝั่ง

          ๓. ดำเนินการถอดองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                   ๑) การวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อค้นหาข้อมูลองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จในแต่ละโครงการ โดยการสัมภาษณ์ผู้ประสานงานโครงการและแกนนำของชุมชนที่ดำเนินโครงการ การประชุมกลุ่มย่อย การใช้คำถามช่วยคิด การเล่าเรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเยี่ยมชมกิจกรรมในพื้นที่โครงการ การสังเกต

                   ๒) การสอบทานข้อมูลองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จในแต่ละโครงการ และหาประเด็นเด่น ในแต่ละประเภทโครงการ และในภาพรวม โดยการจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

๓) การสรุปองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จที่ได้จากโครงการ โดยแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ

๓.๑) โครงการและผลงานเด่นในแต่ละภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคกลางและภาคใต้

๓.๒) ความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แบ่งเป็น ด้านการจัดการป่าไม้ ด้านการจัดการเกษตร การจัดการแหล่งน้ำ การจัดการชายฝั่งทะเล

๓.๓) กระบวนการในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น  การ

สื่อสารและรณรงค์สร้างจิตสำนึก กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา กลไกการจัดการสิ่งแวดล้อม

          ๔. ดำเนินงานการเผยแพร่องค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จ ให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไป ได้รับทราบ

๑)  เรียบเรียงเนื้อหา ออกแบบ และจัดพิมพ์หนังสือถอดองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “จากต้นสาย สู่ ปลายน้ำ”

                   ๒) เรียบเรียงเนื้อหา และออกแบบชุดนิทรรศการ

                   ๓) กำหนดแนวคิด รูปแบบ บทบรรยาย ภาพประกอบ เสียงวิดิทัศน์เพื่อใช้ประกอบการสัมมนา

                   ๔) การจัดสัมมนาเผยแพร่เผยแพร่องค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จ โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย การคัดเลือกสถานที่ รูปแบบการจัดสัมมนา วิทยากร เอกสารประกอบการสัมมนา การดำเนินการสัมมนา และประเมินผลการสัมมนา

๕) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ  เช่น การออกบูธนิทรรศการ วารสารข่าว เว็บไซต์

ผลสำเร็จของงาน (เชิงปริมาณ/คุณภาพ)

          ๑. เกิดองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          ๒. หนังสือ “จากต้นสาย สู่ปลายน้ำ” จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม และการถ่ายทอดและประชาสัมพันธ์องค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ด้านการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นของตนเองได้

 

การนำไปใช้ประโยชน์

          หนังสือการถอดองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จ ชื่อ “จากต้นสาย สู่ปลายน้ำ” จะเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจจะดำเนินโครงการด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำไปประยุกต์ ใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อการต่อยอดและขยายผลต่อไป

 

ความยุ่งยากในการดำเนินการ/ปัญหา/อุปสรรค

          ๑. กระบวนการการค้นหาองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ข้อพึงระวังจากผู้เข้าร่วมดำเนินโครงการ จะต้องใช้เทคนิค วิธีการ ในหลากหลายรูปแบบ ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทโครงการ สภาพภูมิประเทศ สภาพสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งพฤติกรรม และบุคลิกภาพของแต่ละปัจเจกบุคคล เพื่อค้นหาความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคลนั้น

๒. การสอบทานข้อมูลองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จ โดยใช้เวทีการประชุมกลุ่มย่อยจากหลากหลาย โครงการ จะมีปัญหายุ่งยากในการนัดหมายผู้ที่เป็นแกนนำในการดำเนินโครงการให้มาเข้าร่วมประชุมพร้อมกันได้

 

ข้อเสนอแนะ

          ๑. กองทุนสิ่งแวดล้อมควรมีการถอดองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ในประเภทโครงการอื่นๆ ด้วย เช่น โครงการก่อสร้างระบบการจัดการขยะและน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการการจัดมลพิษของภาคเอกชน

๒. กองทุนสิ่งแวดล้อมควรมีการดำเนินการถอดบทเรียนทุก ๕ ปี และนำองค์ความรู้/บทเรียน และผลสำเร็จ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบ

 

    แสดงความคิดเห็น

    กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น