รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๖๒

      พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๓ (๑๓) กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำเสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์ ได้รับมอบหมายให้จัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

สาระสำคัญขององค์ความรู้

      รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๖๒ มีสาระสำคัญของสถานการณ์ในช่วง พ.ศ. ๒๕๖๑-มิถุนายน ๒๕๖๒ ประกอบด้วย

      ๑. สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น การนำเข้า-ส่งออกเพิ่มขึ้น มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายครัวเรือนลดลง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีจำนวนประชากรค่อนข้างคงที่ ส่วนวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรลดลง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีมาตรการและกลไกที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

      ๒. สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกและภูมิภาค (อาเซียน) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ พื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่า สถานการณ์ทรัพยากรน้ำ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางอากาศ และการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

      ๓. สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขา จำนวน ๑๑ สาขา ได้แก่ ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน ทรัพยากรแร่ พลังงาน ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ สถานการณ์มลพิษ สิ่งแวดล้อมชุมชน สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ซึ่งใช้กรอบแนวคิด DPSIR (Drivers-Pressures-States-Impacts-Responses Model) ในการวิเคราะห์และให้ข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการ ซึ่งพบว่า สถานการณ์ที่ดีขึ้น ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น การผลิตและการใช้แร่ลดลง การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น จำนวนจุดความร้อนสะสมลดลง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงทะเลเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น แนวปะการังมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น พื้นที่ชุ่มน้ำเพิ่มขึ้น พื้นที่สีเขียวต่อคนในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น จำนวนชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครลดลง สถานภาพแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ (น้ำตก ภูเขา ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา และถ้ำ) ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลง สำหรับสถานการณ์น่าเป็นห่วง ได้แก่ การนำเข้าและการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางลดลง ขยะพลาสติกในขยะทะเล คุณภาพอากาศเกินมาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น และเขตอุตสาหกรรม ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น และปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น

      ๔. ประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งพิจารณาจากประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และ/หรือการดำรงชีวิตของประชาชน หรือประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ ประกอบด้วย ๔ ประเด็น ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน (ฝุ่นละออง PM2.5) ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการกัดเซาะชายฝั่ง

      ๕. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น นำไปสู่การคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และการจัดทำข้อเสนแนะเชิงนโยบายและกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการ ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น (ในช่วง ๑-๒ปี) รวม ๔ มาตรการ ได้แก่ การลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในเมือง การจัดการขยะมูลฝอย การพัฒนาระบบข้อมูลสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาและยกระดับระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับมาตรการระยะยาว (ในช่วง ๓-๑๐ ปี) รวม ๕ มาตรการ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การศึกษาและพัฒนาระบบการอนุญาตปล่อยมลพิษ การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

      ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๒ และคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้ว เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๓

Link: http://www.onep.go.th/ebook/soe/soereport2019.pdf

    แสดงความคิดเห็น

    กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น